ฉากจบชีวิตขงจื่อ




ในมุมมองของนิธิพันธ์ วิประวิทย์ (มองตะเกียบเห็นป่าไผ่ 3 สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊คส์ พ.ศ.2561) ฉากชีวิตขงจื่อ ที่คนมากมายถือเป็นศาสดา วันนี้รัฐบาลจีนถือเป็นแก่นแกนของภาษา และวัฒนธรรม จบแบบเรื่องเศร้ารันทด

ขงจื่อร่อนเร่พเนจรไปทั่วแผ่นดิน นำเสนอระบอบการปกครองในอุดมคติ แต่ไม่มีผู้ปกครองคนใดรับไปใช้ ขณะที่มีคนมากมายเคารพศรัทธา มีคนสามพันคนเรียกตัวเองเป็นศิษย์

แท้ที่จริงขงจื่อคือมนุษย์คนหนึ่ง ผ่านช่วงชีวิตที่ลำเค็ญแสนเข็ญ เขาถูกมองด้วยมุมหลากหลาย ตัวขงจื่อเองเคยรำพึงกับศิษย์ “ชีวิตอาจารย์เหมือนสุนัขไร้บ้าน”

แล้วก็ถึงวันที่โรยราเหนื่อยล้า ขงจื่ออายุ 68 ปี ก็กลับแคว้นหลู่บ้านเกิด ละเลิกความตั้งใจเป็นขุนนาง เลือกชีวิตเงียบสงบกับชาวบ้าน

วันเวลาส่วนใหญ่ขงจื่อใช้กับการสอนหนังสือ รวบรวมพิธีกรรมและดนตรีโบราณ เรียบเรียงประวัติศาสตร์ยุคชุนชิว ซือจิง ฯลฯ และมุ่งมั่นศึกษาตำราอี้จิง

ขงจื่อมีลูกชายคนเดียว เมื่ออายุ 50 ปี ก็ตาย ตอนนั้นขงจื่อ อายุ 69 ปี

สองปีต่อมาเหยียนหุย อายุ 40 ปี ศิษย์เอกผู้ยากไร้แต่รุ่มรวยด้วยคุณธรรม ซึ่งขงจื่อหวังฝากฝังเป็นตัวแทนก็ตาย ขงจื่อทุกข์ระทมมาก ถึงขั้นระงับจิตใจไม่อยู่

มีผู้บันทึกว่าขงจื่อเอาแต่กอดโลงศพเหยียนหุยร่ำไห้ จนศิษย์เข้าไปเตือน “อาจารย์ ท่านทุกข์เกินไป ท่านเคยสอนพวกเรา เป็นเรื่องไม่สมควร”

ขงจื่อได้สติหยุดร่ำไห้ถามว่า “โอ้ ข้าร้องไห้หรือ?” แล้วพูดว่า “หากข้าไม่ร้องไห้ให้คนคนนี้ แล้วข้าจะต้องร้องไห้ ให้ใครอีกเล่า!” แล้วขงจื่อก็หันไปกอดโลงศพเหยียนหุยร่ำไห้ต่อ

ปีต่อมา จื่อลู่ ศิษย์ผู้กล้า เสียชีวิตจากการรัฐประหารแคว้นเว่ย มีคนส่งข่าวมาบอก ศพจื่อลู่ถูกศัตรูสับแหลกเละเป็นชิ้นๆ ท่านอาจารย์เริ่มซึมเศร้า นับแต่วันนั้นก็ไม่กินอาหารที่เป็นเนื้อสับ

ยังมีศิษย์อีกคนชื่อเสียงโด่งดังมากในแคว้นฉู่ ถึงขนาดมีคนยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภและทรัพย์สิน

โดยความสัมพันธ์ศิษย์คนนี้ดื้อดึงต่อคำสอนของอาจารย์เนืองๆ ในยามรุ่งเรืองจื่อก้งก็ยังติดตามข่าวอาจารย์ แล้ววันนั้นจื่อก้งก็เดินทางมาเยี่ยมขงจื่อถึงบ้าน

ภาพตรงหน้าชายชราอายุ 73 ปี ยืนถือไม้เท้าพยุงกายรอเขาอยู่หน้าประตูเรือน เหมือนเปลวเทียนวูบสุดท้ายที่ใกล้ดับแสง “จื่อก้งเอ๋ย ทำไมเจ้ามาช้าได้ถึงขนาดนี้”

ทักศิษย์รักให้ดูสภาพสังขารที่โรยรา แล้วขงจื่อก็กล่าวต่อ

“เขาไท่ซานถล่มทลายแบบนี้เองหรือ? ขื่อคานพังทลายลงแบบนี้เองหรือ? ปราชญ์ร่วงโรยเช่นนี้เองหรือ?”

จื่อก้งศิษย์รัก ซึ่งจากไกลอาจารย์เนิ่นนาน นับได้ว่ามาทัน …เขาเฝ้าดูได้เจ็ดวัน ขงจื่อก็ตาย

ตามประเพณีศิษย์รักอยู่ไว้ทุกข์อาจารย์ 3 ปี แต่จื่อก้งศิษย์ที่ขึ้นชื่อว่าดื้อ อยู่ไว้ทุกข์อาจารย์นานถึง 6 ปี

หกเจ็ดร้อยปีต่อมา ซือหม่าเซียน คนสมัยราชวงศ์ฮั่น เดินทางไปถึงสุสานขงจื่อ ผู้เขียนประวัติขงจื่อเป็นคนแรกของจีน ทิ้งท้ายข้อเขียนไว้ว่า

ภูเขาสูงชัน ย่อมทำให้คนต้องแหงนมอง หนทางกว้างขวางย่อมทำให้ผู้คนมากมายเดินตามรอย…ในแผ่นดินจีน ไม่ว่าคนสามัญหรือกษัตริย์และนักปกครองต่างก็ยังใช้มาตรฐานชี้ถูกผิดที่ขงจื่อวางไว้

หากคิดตามมุมมองของซือหม่าเซียน ขงจื่อมีชีวิตเรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ งามสง่า เป็นแบบอย่าง ไม่ได้มีชีวิตที่สลดรันทดแต่ประการใดเลย.

กิเลน ประลองเชิง