การรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะท้ายด้วย “การปลูกถ่ายไต” (ตอน 1)




“ไต” เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายถั่ว อยู่นอกเยื่อบุช่องท้องบริเวณชายโครงด้านหลัง มี 2 ข้าง คือ ไตซ้ายและไตขวา ไตมีหน้าที่กรองเลือดเพื่อผลิตน้ำปัสสาวะ กำจัดของเสียจากกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย รักษาสมดุลของกรด-ด่าง ช่วยรักษาสมดุลของความดันโลหิต ผลิตฮอร์โมนบางชนิด เป็นต้น

ไตวายแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงไตวายเรื้อรังที่ต้องรักษาด้วย “การปลูกถ่ายไต” เท่านั้น

“ไตวายเรื้อรัง” คือ การที่ไตสูญเสียหน้าที่การกรองเลือด เพื่อกำจัดน้ำและของเสียออกจากร่างกายสาเหตุของไตวายเรื้อรังมีหลายสาเหตุ แต่ที่พบมากที่สุด 2 อันดับแรก คือ ภาวะเบาหวานและความดันโลหิตสูง

ไตวายเรื้อรังแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ตามอัตราการกรองของหน่วยไต ดังนี้

ไตวายเรื้อรังระยะท้าย คือ ไตวายระยะที่ 5 เมื่ออัตราการกรองของหน่วยไตมีค่าน้อยกว่า 15ml/min ซึ่งระยะนี้ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต หรือการปลูกถ่ายไต

การรักษาไตวายเรื้อรังระยะท้าย (ระยะที่ 5)

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้ายทุกรายจะต้องได้รับการรักษาที่เรียกว่า “การบำบัดทดแทนไต” มี 2 วิธี ดังนี้

1. การฟอกไต แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

     1.1 การฟอกไตด้วยการฟอกเลือด

     1.2 การฟอกไตผ่านทางหน้าท้อง

การฟอกไตนับว่าเป็น “การรักษาแบบประคับประคองอาการ” เท่านั้น

2. การปลูกถ่ายไต เป็นการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้ายที่ดีที่สุด

การปลูกถ่ายไต คืออะไร

“การปลูกถ่ายไต” คือ กระบวนการผ่าตัดปลูกถ่ายไตที่คุณภาพดีจากผู้บริจาคที่มีชีวิต หรือผู้บริจาคไร้ชีพให้กับผู้ป่วยที่ไตไม่สามารถทำหน้าที่ต่อได้

ผู้บริจาคที่มีชีวิต

ในประเทศไทยผู้บริจาคอวัยวะที่มีชีวิตอาศัยตามระเบียบสภากาชาดไทยปี 2545 ดังนี้

ข้อ 49 ผู้บริจาคต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ดังนี้

     49.1 บิดาหรือมารดา บุตรหรือธิดา ตามธรรมชาติ พี่ น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกันที่สามารถพิสูจน์ได้ทางกฎหมาย หรือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น HLA และหรือ DNA จากบิดา มารดา

     49.2 ลุง ป้า น้า อา หลาน (หมายถึง ลูกของพี่หรือน้องที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเดียวกันหรือครึ่งหนึ่ง เช่น พี่น้องต่างบิดาหรือมารดา ในกรณีนี้จะต้องมีการพิสูจน์ว่าผู้บริจาคและผู้รับอวัยวะมี DNA และ/หรือ HLA ที่มีความสัมพันธ์กัน
ในกรณีที่มีปัญหา ให้คณะอนุกรรมการวิชาการศูนย์รับบริจาคอวัยวะเป็นผู้พิจารณา

ข้อ 50 ผู้บริจาคเป็นคู่สมรส โดยมีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสจนถึงวันผ่าตัดปลูกถ่ายไตไม่น้อยกว่า 3 ปี ยกเว้นกรณีที่มีบุตรหรือธิดาร่วมกัน ซึ่งหากมีปัญหาในการพิสูจน์บุตรธิดา ให้ใช้ DNA และ/หรือ HLA เป็นเครื่องพิสูจน์

ผู้บริจาคไร้ชีพ (deceased donor)

ในบริบทของประเทศไทย ผู้บริจาคไร้ชีพจะขอกล่าวถึงเฉพาะผู้บริจาคสมองตายเท่านั้น

“ภาวะสมองตาย (brain death)” คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป ในทางการแพทย์จะถือว่าผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย คือ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว

ผู้ป่วยสมองตายที่จะสามารถบริจาคอวัยวะได้จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้บริจาคก่อนมีภาวะสมองตาย หรือหากมีภาวะสมองตายแล้วต้องได้รับการยินยอมจากญาติสายตรง และจะต้องไม่มีข้อห้ามการบริจาคอวัยวะ

ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะจะเป็นผู้ดำเนินการผ่าตัดนำอวัยวะออก เพื่อเก็บรักษาไว้ในน้ำยาถนอมอวัยวะแล้วนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยต่อไป

สิทธิการเข้าถึงการรักษาการปลูกถ่ายไต

ปัจจุบันผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้าย สัญชาติไทย สามารถเข้าถึงบริการการปลูกถ่ายไตได้ทุกสิทธิการรักษา โดยแบ่งได้ดังนี้

1. สิทธิราชการ

2. สิทธิประกันสังคม

3. สิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง, สิทธิ 30 บาท)

4. สิทธิพนักงานรัฐวิสาหกิจ

ข้อดีของการปลูกถ่ายไต มีดังนี้

1. ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

2. ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาถูกกว่าในระยะยาว

3. อัตราการรอดชีวิตมากกว่า

ข้อด้อยของการปลูกถ่ายไต

ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตทุกรายจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต ดังนั้นผู้ป่วยย่อมมีความเสี่ยงที่เกิดจากผลข้างเคียงจากยากดภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากกว่าคนปกติทั่วไป เช่น เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้นหลังการปลูกถ่ายไต เสี่ยงต่อมะเร็งสูงขึ้นหลังการปลูกถ่ายไต เป็นต้น

ข้อด้อยดังกล่าวมิได้หมายความว่าผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตทุกรายจะต้องติดเชื้อ หรือเป็นมะเร็งตามมาทุกราย หากแต่เพียงมีความเสี่ยงสูงขึ้น

ผู้ป่วยปลูกถ่ายไตทุกรายจะได้รับยาและคำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อ และการตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งที่อาจซ่อนอยู่ ทั้งก่อนและหลังการปลูกถ่ายไต

อย่างไรก็ตาม หากเทียบข้อดีข้อด้อยแล้ว การปลูกถ่ายไตนั้นมีข้อดีมากกว่าข้อด้อยอยู่มาก

สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องราวความรู้ของการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะท้ายด้วย “การปลูกถ่ายไต” ตอน 2 รอติดตามกันนะครับ

@@@@@

แหล่งข้อมูล

ผศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล หน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล