“Re-Design” สมดุล 3 มิติ ทางรอด…อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย




ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เคยทำรายได้ให้ประเทศเป็นแสนล้าน กำลังวิกฤติเข้าขั้นโคม่า รอแค่ปาฏิหาริย์ที่จะช่วยให้รอดเท่านั้น

แต่เพื่อไม่ต้องรอปาฏิหาริย์ “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย นำเสนอกลยุทธ์ “Thai Tourism Re–Design ออกแบบการท่องเที่ยวไทยใหม่” เพื่อฟื้นฟูวิกฤติ การท่องเที่ยวที่กำลังดิ่งเหวลงเรื่อยๆ

“โควิด-19 นักท่องเที่ยวหายไป 100% สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ หาลูกค้ากลับมา ธุรกิจท่องเที่ยวไม่ใช่แค่เรา แต่เจอวิกฤติเหมือนกันทั่วโลก การช่วงชิงโอกาสกลับมาให้เร็วที่สุดคือทางรอด ประเทศไหนจะพร้อมก่อน ได้โอกาสก่อนในการแข่งขัน” ชำนาญเกริ่นเรียกน้ำย่อยชวนติดตาม พร้อมกับอธิบายต่อว่า วันนี้ทางรอด เอกชนต้องพึ่งรัฐ 3 เติม “เติมทุน/เติมลูกค้า/เติมความรู้” 1).เติมทุน-ในรูปแบบกองทุนท่องเที่ยว 2).เติมลูกค้า-คนไทย/ต่างชาติ 3).เติมความรู้-ด้านเทคโนโลยี

“จริงๆอาจจะช้าไปนิด เพราะปี 2565 ควรเป็นปีที่เราจะ Restart ธุรกิจท่องเที่ยว ให้กลับมาฟื้น เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ 20% ของ GDP สร้างงานให้คน 7.5 ล้านคนได้อีกครั้ง ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วเท่าไหร่ ก็จะเป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกลับมาฟื้นตัว เช่นกัน” ประธานสภาอุตสาห กรรมท่องเที่ยวไทยบอก

ชำนาญ บอกว่า วันนี้หลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติแล้ว ใกล้บ้านเราอย่างสิงคโปร์ถอดหน้ากากกันแล้ว เกาหลีใต้เปิดประเทศแล้ว เมื่อ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เปิดหมดแล้ว เพราะถ้าปิดนานไปกว่านี้ “ไม่รอด” เศรษฐกิจดิ่งลงเหวกันหมดทั้งโลก สวีเดนไม่ต้องพูดถึง ไม่เคยปิด ทุกประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศกลับสู่ภาวะปกติ

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย บอกว่า ตราบใดประเทศไทยมีนักท่องเที่ยว ต่ำกว่า 12 ล้านคนต่อปี แสดงว่าธุรกิจยังอยู่ในแดนลบ จุดคุ้มทุนของธุรกิจหรือจุดที่ทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าได้โดยไม่ติดลบนั้น โรงแรมต้องมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ประมาณ 30-40% ของจำนวนห้องทั้งหมด นั่นหมายความว่า ในสถานการณ์ ปกติ อุปสงค์ (Supply Side) ของการท่องเที่ยวไทยลงทุนมาเพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 40 ล้านคน หากคิดอัตราเฉลี่ยที่ 30% จำนวนนักท่องเที่ยวที่ทำให้ธุรกิจไม่ขาดทุน ต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณ 12 ล้านคน ถึงจะทำให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ และมีรายได้เพียงพอสำหรับการจ้างงานเพิ่ม และมีกำลังสำหรับจ่ายภาษีให้รัฐบาล

“ประเทศไทยต้องมีจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างต่ำประมาณ 40% ของจำนวนที่เคยเข้ามาประมาณ 40 ล้านคน หรือประมาณ 16 ล้านคนขึ้นไป” ชำนาญย้ำพร้อมกับบอกว่า การจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้อง Re-design สร้างสมดุลใน 3 มิติ คือ สมดุลด้านการตลาด (demand-supply) สมดุลด้านสินค้า (natural-manmade) และสมดุลเชิงพื้นที่ (city-community)

โดยในส่วนของ สมดุลด้านการตลาด หรือ demand-supply หมายถึงการสร้างโอกาสทางการตลาดให้เพียงพอที่จะรักษาห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ภาคการท่องเที่ยวให้อยู่รอด รักษาการจ้างงาน แล้วมาพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 1.2 ล้านล้านบาทให้ได้ และรายได้นี้จะก่อให้เกิดการจ้างงาน และจ่ายภาษีเป็นแสนล้านบาท

สมดุลด้านสินค้า หมายถึงการเพิ่ม manmade ลดการพึ่งพาและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โฟกัสที่การท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มนุษย์เป็นผู้สร้างและบริการ เช่น กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอาหาร กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจและ MICE กลุ่มสายศรัทธา ฯลฯ รวมถึงกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชนและกลุ่มท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ สอดรับกับนโยบาย BCG Model ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ส่วน สมดุลเชิงพื้นที่ แก้ปัญหา over-under tourism ในแหล่งท่องเที่ยว โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี smart tourism เข้ามาช่วยผู้ประกอบการสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์ สร้างโอกาสทางการตลาด ทั้งในโลกออนไลน์ ออฟไลน์ และโลก metaverse เพื่อกระจายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ลดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและ SDGs

“สิ่งที่เริ่มได้ก่อนเลยคือ ต้องปลดล็อกมาตรการในการเข้าประเทศไทยทั้งหมดตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 นี้เป็นต้นไป ดังต่อไปนี้ และเดินหน้านโยบาย Ease-of-Traveling ยกเลิกการตรวจ RT-PCR (day 0) เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย เหลือไว้เพียงแค่การตรวจ ATK ยกเลิกระบบการลงทะเบียนเข้าประเทศ Thailand Pass เพื่อให้การเดินทางเข้าประเทศไทยสะดวกขึ้น” ชำนาญบอกพร้อมกับเสนอว่า จากนั้นรัฐควรจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูการท่องเที่ยว พัฒนา supply-side บุคลากร เทคโนโลยีการตลาด สินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ และเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ เพิ่มงบประมาณสนับสนุนการส่งเสริมการตลาดเชิงลึกในทุกมิติ และโฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่ลึกขึ้น อาทิ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา, กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอาหาร, กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ ฯลฯ

“ผมเชื่อว่า ถ้าทำทุกอย่างในการ Re-design หรือออกแบบการท่องเที่ยวใหม่แบบนี้ ไม่ต้องรอปาฏิหาริย์ครับ ทุกอย่างจะฟื้นตัวและกลับคืนมาเหมือนปกติในเร็วๆนี้แน่นอน” ชำนาญยืนยันอย่างมั่นใจ.