“วัดราชบูรณะ” อยุธยา เจาะเวลา “532 ปี” สู่อดีต




สัปดาห์ที่แล้วเราหลบไปสำรวจเส้นทางการนั่งเรือไปสู่ “เจดีย์ภูเขาทอง” แห่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของท่าน “สุนทรภู่” ในนิราศภูเขาทอง…เพื่อเป็นการหาความรู้เพิ่ม เติมเล็กๆน้อยๆ ตามสไตล์ของทีมงานซอกแซก

สัปดาห์นี้ขอกลับเข้าสู่เรื่องราวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ทีมงานซอกแซกไปเข้าชั้นเรียนกับท่านอาจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ตามเดิมนะครับ เพราะยังมี “จุดสำคัญ” ที่คณะของเราแวะไปเยี่ยมชมที่สมควรแก่การเขียนถึงอย่างน้อยอีก 2 จุด ก่อนที่จะจบสารคดีพิเศษชุดนี้ ได้แก่ วัดราชบูรณะ กับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอยู่พอสมควร

เราจะเริ่มกันที่ วัดราชบูรณะ ก่อนนะครับ เพราะนอกจากจะเป็นวัดเก่าแก่คู่กรุงศรีอยุธยาวัดหนึ่งแล้ว ยังปรากฏเรื่องราวอีกว่า สืบต่อมากว่า 500 ปี หลังจากสร้างวัด…วัดราชบูรณะกลับมาเป็นข่าวใหญ่พาดหัวหนังสือพิมพ์ของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง แต่จะเป็นพาดหัวในเรื่องใดนั้น…จะได้กล่าวถึงโดยละเอียดต่อไป

วัดราชบูรณะตั้งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณ พระราชวังโบราณ แห่งกรุงศรีอยุธยาเท่าไรนัก และก็อยู่ใกล้ๆกับวัดมหาธาตุนั่นเอง ขับรถเข้าอยุธยาก็จะเห็นป้ายบอกทางอย่างชัดเจน

ทุกตำราระบุตรงกันว่า วัดนี้สร้างโดย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.1967 ที่พระองค์ขึ้นครองราชสมบัตินั่นเอง

ซึ่งในการขึ้นครองราชย์ของเจ้าสามพระยานั้นก็คงจะทราบกันบ้างแล้วว่า พระองค์ท่านได้ขึ้นครองโดยมิได้คาดหมายไว้ก่อน เพราะเป็นถึงพระโอรสองค์ที่ 3 ของ สมเด็จพระนครอินทราธิราช กษัตริย์ลำดับที่ 6 ของกรุงศรีอยุธยา

แต่ด้วยพระบุญญาบารมีที่จะได้ขึ้นครองราชย์ ปรากฏว่าในวันที่พระราชบิดาคือ สมเด็จพระนครอินทราธิราชเสด็จสวรรคตนั้น พระเชษฐาทั้ง 2 พระองค์อันได้แก่ เจ้าอ้ายพระยา องค์ใหญ่ ซึ่งไปปกครองเมืองสุพรรณบุรี และ เจ้ายี่พระยา องค์รอง ซึ่งไปปกครองเมืองแพรกศรีราชา (อำเภอสรรคบุรี ในปัจจุบัน) ได้ยกทัพเข้ากรุงศรีอยุธยาหวังมาสืบราชสมบัติด้วยกันทั้งคู่

เกิดโต้เถียงกันถึงขั้นเข้ากระทำยุทธหัตถีต่อกันจนสิ้นชีพตักษัยไปด้วยกันทั้ง 2 พระองค์

เจ้าสามพระยา โอรสพระองค์เล็ก ไปปกครองเมืองพิษณุโลก เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาล่าสุด จึงขึ้นครองราชย์แทนพระบิดาและพระเชษฐาทั้ง 2

นับเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยาและได้รับการยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถพระองค์หนึ่ง สามารถขยายอาณาเขตการปกครองของราชอาณาจักรอยุธยาไปจนถึงล้านนาและกัมพูชาได้ในเวลาต่อมา

ภายหลังขึ้นครองราชย์ในพระนามว่า สมเด็จพระราชาธิราชที่ 2 แล้วทรงโปรด ให้นำพระศพพระเชษฐา ทั้ง 2 พระองค์มาถวายพระเพลิง ร่วมกัน พร้อมกับสร้าง วัดราชบูรณะ ขึ้นในบริเวณที่ถวาย พระเพลิงนั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระเชษฐาทั้ง 2

ครับ! ประวัติของวัดราชบูรณะโดยสั้นๆก็คงจะมีเพียงเท่านี้ และต่อจากนั้นมาในฐานะที่เป็นวัดใหญ่วัดหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ก็ได้รับการบูรณะและดูแลอย่างดีจากพระมหากษัตริย์พระองค์หลังๆมาโดยตลอด

ทำให้สิ่งปลูกสร้างต่างๆในตัววัดไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถหรือพระปรางค์ต่างๆยังคงเหลือให้เห็นเป็นรูปร่างที่โดดเด่นใหญ่โต แม้จะปรักพังจากการเสียกรุงครั้งที่ 2 ไปพอสมควร เช่นเดียวกับวัดอื่นๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ตาม

จาก พ.ศ.1967 วันสร้างวัดราชบูรณะมาจนถึง พ.ศ.2499 แห่งยุครัตนโกสินทร์ วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก 532 ปีพอดิบพอดี

หรือหากนับจากปีกรุงแตก พ.ศ.2310 ถึง พ.ศ.2499 ก็เป็นเวลา 189 ปี นับว่านานโขอยู่

รัฐบาลไทยที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ ณ พ.ศ.2499 ได้แก่ รัฐบาลของท่าน จอมพล ป.พิบูลสงคราม นั่นเอง

อยู่มาวันหนึ่งก็มีข่าวว่า มีคนร้ายลอบไปขุดกรุใต้พระปรางค์ในวัดราชบูรณะ พบเครื่องทองและ อัญมณีจำนวนมาก แต่เนื่องจากฝนตกหนักและเป็นการเข้าไปแบบลักลอบ จึงขนไปได้จำนวนหนึ่ง แม้ต่อมาตำรวจจะตามกลับคืนมาได้บางส่วน แต่ก็เชื่อว่าน่าจะสูญหายไปพอสมควร

หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวว่า ทองที่พบมีจำนวนหลายกระสอบ คนร้ายแบ่งกันคนละ 10 กิโลกรัม แต่โลภมากแย่งกันทำให้ความแตกโดนตำรวจจับกุมได้ส่วนหนึ่ง

หลังจากนั้น กรมศิลปากรก็ดำเนินการจัดทีมไปขุดกรุวัดราชบูรณะอย่างเป็นทางการ พบเครื่องทองต่างๆอีกมากมายรวมทั้งพระพุทธรูปโบราณด้วย ปัจจุบันขนย้ายมาเก็บรักษาไว้อย่างดียิ่งที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ซึ่งเราได้แวะไปเยี่ยมชมและจะเขียนถึงในบทส่งท้ายของการเข้าเรียนวิชาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาในสัปดาห์ต่อไป

มีประเด็นให้ถกเถียงกันว่า เครื่องทองและของมีค่าในกรุของวัดราชบูรณะนั้นเป็นเครื่องเงินเครื่องทอง หรือทรัพย์สมบัติของชาวกรุงศรีอยุธยาที่นำไปฝังไว้ในวัดก่อนกรุงแตกเพื่อซ่อนเร้นพม่าข้าศึก…ใช่หรือไม่?

คำตอบที่กรมศิลปากรตอบก็คือ ไม่ใช่ครับ …แต่เป็นการตั้งใจถวายเงิน ถวายทองและข้าวของมีค่าของผู้คนในกรุงศรีอยุธยาทั้งจากในรั้วในวัง และประชาชนที่มีเงินมีทองทั่วๆไปเพื่อร่วมสร้างวัดต่างหาก โดยนำไปฝังไว้ใต้พระปรางค์ของวัดเสมือนหนึ่งการฝากของมีค่าไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อผู้ฝากจะตามไปเบิกใช้ในชาติหน้านั่นเอง

ข้าวของที่ค้นพบ นอกจากจะเป็นเครื่องทองที่มีคุณค่าแล้ว ยังมีเครื่องประดับอัญมณีที่เชื่อกันว่าเป็นของใช้ประจำตัวของผู้ร่วมถวายอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีพระเครื่องอีกมากเช่นกัน สามารถนำออกจำหน่ายจนรวบรวมเงินสร้างพิพิธ ภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาได้ 1 อาคารใหญ่ๆเลยทีเดียว

นี่คือความโด่งดังของวัดนี้…โดยดังครั้งแรกเมื่อ 532 ปีก่อน เมื่อมีการกระทำยุทธหัตถีครั้งใหญ่ จนเป็นที่มาของการสร้างวัด…และหลัง จากนั้น 532 ปีผ่านไป ก็มาดังจากข่าวกรุแตกเป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ใน พ.ศ.2499 และ พ.ศ.2500 ติดต่อกันหลายสัปดาห์ ไปค้นหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติครับ.

“ซูม”

Share

Recent Posts

New York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check OutNew York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check Out

New York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check Out

New York City is a haven for food lovers, and when it comes to ice… Read More

11 months ago

Explore Montenegro, The Hidden Gem of the Balkans

Montenegro, a hidden gem nestled in the Balkans, offers travelers a captivating experience with its… Read More

12 months ago

Spice Up Your Salad Game With These Tips To Make Salads More Exciting

Salads are a fantastic way to incorporate fresh and nutritious ingredients into our daily meals.… Read More

12 months ago

The Best Travel Destinations For Fitness Enthusiasts

  For fitness enthusiasts seeking to combine their love for travel and physical well-being, there… Read More

12 months ago

What To Do On Your First Visit To Edinburgh

Edinburgh, the capital city of Scotland, is a captivating destination that offers a perfect blend… Read More

12 months ago

Which Are The Consistently Most Popular Starbucks Drinks?

Starbucks has become a global phenomenon, captivating millions of coffee enthusiasts with its diverse menu… Read More

12 months ago