พระสมเด็จ พิมพ์เกศบัวตูม สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พิมพ์ที่เจอน้อยที่สุด




พระสมเด็จ พิมพ์เกศบัวตูม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ ของ อิทธิ ชวลิตธำรง.

และก็มาถึงวันหยุดสุดท้ายของสงกรานต์ปีนี้ ที่ผู้คนก็กลับสู่ชีวิตที่ไม่ปกติเพราะโควิดจนกลายเป็นปกติ แต่ที่เหมือนเดิมเสมอ ไม่ว่าจะ old normal หรือ new normal คือชีวิตของข้าพเจ้า ที่ต้องเข้า สนามพระวิภาวดี (ซึ่งไม่เคยมีวันหยุดเลยตลอด 25 ปี) เพื่อรายงานแฟนคลับ ว่ามีพระเครื่องเด็ดๆอะไรบ้าง

รายการแรก ขอเสนอ พระสมเด็จ พิมพ์เกศบัวตูม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ กทม. ซึ่งเป็นพิมพ์ที่เจอน้อยที่สุด นับได้ไม่ถึง ๑๐ องค์ รวมทั้งองค์นี้ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนเจ้าของ ซึ่งล้วนเป็นมืออาชีพสายตรง “พระสมเด็จ” ทั้งนั้น

เพราะเป็น เกศบัวตูม ที่รูปทรงองค์พระ สมบูรณ์งดงาม พิมพ์พระที่ถูกต้อง เนื้อพระที่อุดมด้วยมวลสาร (ก้อนขาว) ก้อนผงพุทธคุณ (เกล็ดแดง) เกล็ดเนื้อพระพิมพ์กรุลานทุ่งเศรษฐี และ (ก้านดำ) ชิ้นเนื้อมวลสารสีดำ ที่เชื่อกันว่าเป็นก้านธูปหรือเกล็ดเนื้อกระดานชนวนป่น

และมวลสารวิเศษสุด ที่ชี้ชัดความเป็น พระสมเด็จ วัดระฆังฯ คือชิ้นผ้าจีวร ที่สายตรงทุกคนบอกว่า ของมันต้องมี ในเนื้อพระส่วนใดส่วนหนึ่งอย่างองค์นี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่กับ เสี่ยเพชร–อิทธิ ชวลิตธำรง ที่แม้ ชิ้นชายผ้าจีวรจะหลุดหาย แต่ยังมี รอยลายผ้า จับแน่นในเนื้อ ส่องก็เห็นชัด อยู่ตรงพื้นเนื้อในซุ้มเหนือเข่าขวาองค์พระ–จนเป็นเอกลักษณ์ประจำองค์ ที่คนในวงการซื้อขายกันมั่นใจ

องค์ที่สอง เป็น พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง วัดนางพญา อ.เมือง จ.พิษณุโลก ของ เดอะโจ๊ก ลำพูน

พระสภาพสมบูรณ์เดิมๆ ผิวเนื้อทั่วองค์ มีรอยสัมผัสใช้ให้เห็น ในซอกส่วนลึก ยังมี คราบกรุ ฝ้าขาวราดำ เป็นจุดพิจารณา บอกอายุความเก่าถึงยุคสมัย ซึ่งนาทีนี้หาพระแบบนี้ได้ยากสุดๆ–ยิ่งเป็น องค์หน้าใหม่ ที่ไม่ค่อยได้เห็น แบบองค์นี้ ไม่มีเข้าสนามนานเลย

จึงพยากรณ์ได้ว่า ไม่นานนัก จะกลายเป็นพระในฝัน แบบเดียวกับพระพิมพ์ใหญ่ร่วมชุดพระเบญจภาคี ที่ยิ่งนานวันยิ่งยากจะได้พบเห็น มีออกมาเมื่อไร ก็บ่นว่าแพง แต่ไม่นานก็ถูกซื้อเก็บเงียบ นิ่งสนิทอยู่กับเจ้าของตัวจริงทุกองค์–องค์นี้ ก็คงถูกนิมนต์หายเหมือนกัน

พระนางพญา พิมพ์เทวดา วัดนางพญา.

ตามมาด้วย พระนางพญา พิมพ์เทวดา วัดนางพญา อ.เมือง จ.พิษณุโลก อีก ๑ ใน “นางพิมพ์เล็ก” พิมพ์นิยมมาตรฐาน ที่พบจากกรุองค์พระเจดีย์วัดนางพญา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕ เสด็จประพาส เมืองพิษณุโลก

พระที่พบ จัดหมวดหมู่ได้ ๗ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์ใหญ่เข่าโค้ง ๒.พิมพ์ใหญ่เข่าตรง ๓.พิมพ์ใหญ่อกนูน ๔.พิมพ์ใหญ่พิเศษ (เข่าบ่วง) ๕.พิมพ์กลางสังฆาฏิ ๖.พิมพ์เล็ก (อกนูน) 

พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง วัดนางพญา ของ โจ๊ก ลำพูน.

และ ๗.พิมพ์เล็กเทวดา (อกแฟบ) แบบองค์นี้ ที่ในอดีต มีคุณค่าเป็นพระแจกพระแถม ที่เรียกว่า “พระน้ำจิ้ม” เวลามีการซื้อขายพระยอดนิยมพิมพ์หลักๆ เพราะขนาดองค์พระที่เล็กมาก จึงไม่ได้รับความนิยม และในยุคนั้น มีแต่ผู้ชายที่นิยมหาพระใช้บูชาคู่ตัว

กับ พระนางพิมพ์เล็ก มีจำนวนมาก หาง่าย ขอก็ได้ แจกก็ดี จึงไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร

แต่วันเวลาผ่านมา จน พระพิมพ์ใหญ่ หายากขึ้น จึงถึงเวลาของ พระพิมพ์เล็ก ที่ได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะจำนวนพระยังพอมีให้พบเห็นเล่นหาไม่ยาก ถึงปัจจุบันจึงกลายเป็นพระไม่พอกับความต้องการ เพราะยุคนี้ผู้หญิงระดับผู้นำองค์กร นิยมพระเครื่องชั้นดี มีพุทธคุณมาใช้บูชา เป็นสิริมงคล สร้างความมั่นใจ “พระนางพญา” จึงเป็นพระเครื่องที่ผู้หญิงไทยกล้าสู้ราคา จนผู้ชายหงายหลังไปหลายราย

พระกริ่ง ๗๙ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ ของ อิทธิ ชวลิตธำรง.

ตามมาด้วย พระกริ่ง พ.ศ.๒๔๗๙ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทว) วัดสุทัศน์ กทม. พระกริ่งรุ่นดังสกุล วัดสุทัศน์ ที่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จ พระสังฆราช (แพ ติสสเทว) ทรงสร้างไว้ ครั้งดำรงฐานาสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต เมื่อวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๒๔๗๙

เป็น เนื้อนวโลหะ แบบเนื้อในแดงกลับขาว แล้วผิวนอกกลับเป็นสีเทา มีการตกแต่งด้วยฝีมือชั้นครู ของ ช่างประสาร ศรีไทย–องค์นี้ ก็ของ เสี่ยอิทธิ ชวลิตธำรง

พระชัยวัฒน์ เฉลิมพล พิมพ์ต้อ พ.ศ.๒๔๘๔ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ ของ สุธีร์ นาคทอง.

อีกรายการ เป็น พระชัยวัฒน์ เฉลิมพล พิมพ์ต้อ พ.ศ.๒๔๘๔ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ ทรงประกอบพิธีเททองสร้าง ขณะดำรงฐานาสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระสังฆราช ใน วันเพ็ญ พ.ศ.๒๔๘๔ โดย นายช่างหรัส พัฒนางกูร เททอง

เป็นพระที่ทรงสร้างส่วนพระองค์ ประทาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร หรือ พระองค์ชายกลาง ตามที่ทูลขอ–เนื้อพระเป็นโลหะ ผสมเงินพดด้วง ภายในเหลืองแกมขาว ผิวเนื้อกลับดำ–องค์นี้ ของ เสี่ยสุธีร์ นาคทอง

พระพุทธรูปบูชา สมัยเชียงแสน สิงห์ ๓ หน้าตัก ๑๓ นิ้ว ของ ดร.ปัณณ วิชญ์ พิบูลย์ธนารมย์.

รายการต่อไป คือ พระพุทธรูปบูชา พุทธศิลป์สมัยเชียงแสน สิงห์ ๓ พุทธศตวรรษ ๒๑ หน้าตัก ๑๓ นิ้ว ของ ดร.ปัณณวิชญ์ พิบูลย์ธนารมย์

เป็นพระแท้ถึงยุคถึงศิลป์ ที่มีความ งามของพุทธศิลป์ที่สมบูรณ์แบบ ด้วยฝีมือช่างชั้นเยี่ยม ที่สำคัญเป็นพระเนื้อเปิด ปอกผิวเห็นเนื้อแท้ ที่เป็นโลหะผสมสัมฤทธิ์ ที่มีแสงรัศมี ดูมีพลัง อานุภาพศักดิ์สิทธิ์

พระแบบนี้ ยากจะหาพบ เจ้าของ ที่เห็นคุณค่า เป็นพระของแผ่นดิน จึงอาราธนาไปประดิษฐานให้ทุกคนได้ บูชา ที่สถานปฏิบัติธรรม เรือนพระปัณณวิชญ์ 

พระปิดตา พิมพ์ชะลูดเล็ก เนื้อเมฆสิทธิ์ หลวงปู่ทับ วัดอนงค์ ของ สถิต ราชบุรี.

อีกสำนัก เป็น พระปิดตาเมฆสิทธิ์ พิมพ์ชะลูดหลวงพ่อทับ วัดอนงคารามวรวิหาร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ที่ศักดิ์ศรีเป็น พระปิดตา เนื้อเมฆสิทธิ์ ยอดนิยมสูงสุด

เพราะหลวงพ่อทับ เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณมีวิชาอาคม และสำเร็จในการเล่นแร่แปรธาตุ จนได้ ตำรับสูตรเนื้อโลหะ (เมฆสิทธิ์) ที่มีอานุภาพในตัว

เมื่อ นำมาสร้างเป็น วัตถุมงคล และองค์พระหลายแบบ พิมพ์ ทั้ง ลูกอม พระชัยวัฒน์ พระพิมพ์ปางซ่อนหา และ พระปิดตา ที่มีเอกลักษณ์ ทั้งแบบเดิมๆไม่แต่ง และแต่งเดิมๆ อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยสถิต ราชบุรี และมีที่รอยลายมือจารอักขระ เป็นการันตีชัดเจน

คชสีห์งาแกะ (ตัวครู) หลวงพ่อหอม วัดชากหมาก ของ เพชร อิทธิ.

รายการสุดท้าย คือ คชสีห์ งาแกะ (ตัวครู) หลวงพ่อหอม วัดชากหมาก อ.บ้านฉาง ระยอง ของ เสี่ยเพชร–อิทธิ ซึ่ง เจอชื่อใน สนามพระวิภาวดี ทุกอาทิตย์ เพราะมีพระดีๆ ที่ลงให้ดูได้อีกหลายสิบปี

คชสีห์ตัวนี้ ได้มาพร้อม สิงห์งาแกะ “ตัวครู” ที่ลงไปครั้งก่อน เป็นฝีมือช่างเดียวกัน อายุงาแห้งเก่าพอกัน ดูผ่านๆ อาจเข้าใจได้ว่า เป็นคชสีห์ หลวงปู่เฮง วัดเขาดิน จ.นครสวรรค์ เพราะรูปทรงลีลาลวดลาย เหมือนคชสีห์ หลวงปู่เฮง แทบจะบอกได้ว่าเหมือนฝีมือช่างคนเดียวกัน

มีเพียงจุดเดียว ที่เป็นสัญลักษณ์บอกความต่าง คือ ตาที่ฝังพลอยแดง และ ลายมือจารอักขระ ที่สายตรงส่องปั๊บจำได้ บอกตัวนี้เป็น คชสีห์ หลวงพ่อหอม เมืองระยอง และ “ตัวครู” ด้วย

เล่าเรื่อง คชสีห์ กันนิด ว่า ที่โบราณาจารย์ นำ คชสีห์ มาจัดสร้างเป็นเครื่องรางของขลังเพราะ คชสีห์ เป็นสัตว์ในนิยาย ถือเป็นสัตว์ชั้นสูง มีอำนาจราชศักดิ์ ระดับเดียวกับ พญาครุฑ ซึ่งล้วนเป็น สัตว์ในป่าหิมพานต์ ป่าในวรรณคดี และความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ ตามคติศาสนาพุทธและฮินดู

ป่าหิมพานต์ ตั้งอยู่บนเชิงเขาพระสุเมรุ มีเนื้อที่ประมาณ 3,000 โยชน์ประดับด้วยยอด 84,000 ยอด มีสระใหญ่ 7 สระ เช่น สระ อโนดาต

ในป่าหิมพานต์ เต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิด ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาแปลกแตกต่างจากสัตว์ที่มนุษย์รู้จักเพราะนำสัตว์สี่ขา สองขาและปลา มาผสมกันแล้วตั้งชื่อใหม่ ตามจินตนาการของคนโบราณ ที่เราคุ้นชื่อก็มี กินรี นาค ครุฑ

ส่วนคชสีห์ มีรูปร่างเหมือนราชสีห์ แต่มีงวงเหมือนช้าง ซึ่งมีเรื่องของการใช้ คชสีห์ เช่น ในกาพย์เห่เรือ เวลา “ในหลวง” เสด็จทางชลมารค ก็จะได้ยินท่อนหนึ่งว่า “คชสีห์ ที่ผาดเผ่นดูดังเป็นเห็นขบขันราชสีห์ที่ยืนยัน คั่นสองคู่ดูยิ่งยง”

และ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งโปรดฯ ให้ชำระกฎหมายเก่าโบราณ เป็นประมวลกฎหมาย เมื่อ พ.ศ.2347 เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” โดยให้อาลักษณ์ ชุบเส้นหมึกสามชุด แต่ละชุดประทับตรา 3 ดวง คือ ตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ (สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม) 1 และ ตราบัวแก้ว ไว้ 

มาถึงเรื่องปิดท้าย ตอนสงกรานต์นี้เอง ที่บ้านเศรษฐีใหญ่นครปฐม มีญาติมิตรไปชุมนุมรดน้ำดำหัวเจ้าของบ้านกันเต็มบ้าน ตั้งแต่ทำบุญเลี้ยงพระเช้า

พอพระกลับวัด ทุกคนก็ทักทายคุยกัน ในนั้นมี ปลัด อบต. ซึ่งแซวเพื่อนคนหนึ่งว่า ปีนี้ยกมาทั้งครอบครัวเลยนะ คงอัดอั้นที่เจ้าภาพงดจัดงาน เพราะโควิดมาหลายปีละสิ

เพื่อนฟังแล้วยิ้มๆไม่ตอบ แต่ภรรเมีย ค้อนปลัด บอกว่า ไม่ใช่เพราะอั้นเอิ้นหรอก แต่ได้ยินว่าเจ้าของบ้าน จะเอาพระเครื่องเก่าๆ ออกมาแจกทุกคน เลยอยากมารับพระ–คุณเมียเลย เกณฑ์มาหมดบ้าน เพราะบ้านไหนสมาชิกมามาก ก็ได้พระมาก เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง