Dyson มองหานักประดิษฐ์ไทยรุ่นใหม่




Dyson เดินหน้าปั้นนักประดิษฐ์ไทย เปิดตัว James Dyson Award ครั้งแรก จัดประกวดแข่งขันออกแบบนวัตกรรมพร้อมผลักดันสู่เวทีโลกและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป

เจมส์ ไดสัน (James Dyson) ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าทีมวิศวกร Dyson บริษัทด้านการวิจัยและเทคโนโลยีจากอังกฤษ ผู้ผลิตไดร์เป่าผมและเครื่องดูดฝุ่นที่กำลังได้รับความนิยมกล่าวว่า รางวัล James Dyson Award ต้องการส่งเสริมการแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาด โดยให้นักประดิษฐ์และนักออกแบบรุ่นใหม่ได้ตั้งคำถามและท้าทายกับสิ่งต่างๆ โดยรางวัลนี้จะให้ความมั่นใจและพื้นที่สําหรับการแก้ปัญหา ซึ่ง 70% ของผู้ชนะในระดับนานาชาติที่ผ่านมาได้สานต่อโครงการและต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ในทางธุรกิจด้วย

ในปี พ.ศ.2565 นี้ James Dyson Award ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกใน 2 ประเทศใหม่นั่นก็คือตุรกีและไทย เหตุผลในการคัดเลือกประเทศเพื่อให้ร่วมการแข่งขัน พิจารณาจาก ประเทศที่สนับสนุนด้านการออกแบบและนวัตกรรม รวมทั้งมีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมและการออกแบบที่แข่งแกร่ง ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีความโดดเด่นชัดเจน

การแข่งขันออกแบบนวัตกรรมJames Dyson Award จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ภายใต้โจทย์เดิมมาตลอด 17 ปี นั่นคือ “ออกแบบอะไรก็ได้ที่แก้ไขปัญหา” ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จำนวนสิ่งประดิษฐ์จากผู้เข้าแข่งขันทั่วโลกเพิ่มขึ้นสร้างสถิติใหม่ โดยผู้ชนะในระดับประเทศ จะได้เข้าร่วมส่งสิ่งประดิษฐ์เข้าประกวดในระดับนานาชาติ ซึ่งจะถูกคัดเลือกโดยนายเจมส์ ไดสัน โดยตรง หากชนะนอกจากได้รางวัลเป็นเงินหลักล้านบาทแล้ว ยังได้รับโอกาสนำไอเดียไปต่อยอดทางธุรกิจด้วย

ทั้งนี้ รางวัลชนะในระดับนานาชาติภายใต้ James Dyson Award เมื่อปีที่ผ่านมา ได้แก่ รางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ 2021-HOPES (สิงคโปร์) เครื่องมือตรวจแรงดันในลูกตาที่สามารถช่วยตรวจโรคต้อหินได้ที่บ้านโดยไม่เจ็บปวด ผลงานโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS), รางวัลชนะเลิศด้านความยั่งยืน 2021-Plastic Scanner (เนเธอร์แลนด์) เครื่องมือราคาย่อมเยา ที่สามารถตรวจสอบชนิดของพลาสติกเพื่อการรีไซเคิล ผลงานโดย Jerry de Vos จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Delft (TU Delft) และรางวัลชนะเลิศด้านการแพทย์ 2021-REACT (สหราชอาณาจักร) เครื่องมือที่ช่วยหยุดการไหลของเลือดเพื่อช่วยเหยื่อจากการถูกแทง ผลงานโดย Joseph Bentley จาก Loughborough university

ส่วนรางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติในปี 2020 ได้แก่ The Blue Box (สเปน) ผลงานโดย Judit Giró Benet อายุ 23 ปี เป็นวิธีตรวจสอบมะเร็งเต้านมแบบใหม่ที่ทำได้ที่บ้าน โดยใช้ตัวอย่างปัสสาวะและ AI algorithm, รางวัลชนะเลิศด้านความยั่งยืน 2020-AuREUS System Technology (ฟิลิปปินส์) ผลงานโดย Carvey Ehren Maigue อายุ 27 ปี AuREUS คือวัสดุชนิดใหม่ที่ทำจากขยะทางเกษตรกรรมที่สามารถเปลี่ยนแสง UV ให้กลายเป็นพลังงานได้.