6 แหล่งภาพเขียนสีโบราณ ยุคก่อนประวัติศาสตร์




สวัสดีปีใหม่ 2565 “ปีขาล เสือน้อยอดทน” มาพร้อมกับความคึกคักในโอกาสพิเศษนี้ “พี่ม้ามังกร” จะพาน้องๆไป ตะลุยโลกใบใหญ่เปิดศักราชใหม่ กับเรื่องราวความอัศจรรย์ ของ “แหล่งภาพเขียนสี” 4 ภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้าหลักฐานทางโบราณคดี และจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ด้วยครับ

เริ่มกันที่ ภาคเหนือ “แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีประตูผา” ต.บ้างดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในพื้นที่ซึ่งเป็นช่องเขาอยู่ระหว่างเขา 2 ลูก พบหลักฐาน ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000 ปี

โดยเป็น แหล่งภาพเขียนสีที่ยาวที่สุดในเขตภาคเหนือตอนบน มีจำนวนมากถึง 1,872 ภาพ แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มตามลักษณะของภาพ คือ ภาพมือ ภาพบุคคล ภาพสัตว์ ภาพพืช ภาพสัญลักษณ์ ภาพสลักหรือรูปรอยลงหิน ทั้งพบหลุมฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประกอบศพต่างๆ อาทิ โลงไม้ ภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน กระดูกสัตว์ เป็นต้น ทำให้ตีความภาพเขียนสีว่า เพื่อดำรงชีพ ด้วยการทำกสิกรรม ล่าสัตว์ และเพื่อประกอบพิธีปลงศพ

เดินทางกันต่อที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “แหล่งภาพเขียนสีผาแต้ม” ต.นาคำ อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี บริเวณที่พบเป็นเพิงผาตั้งอยู่บนภูเขาหินทราย ปรากฏ ภาพมือ ภาพสัตว์ ภาพสิ่งของ ที่มีลักษณะคล้ายเกวียนและกลองมโหระทึก ภาพคน จำนวน 5-6 คน จับมือต่อกันเรียงเป็นแถว บางส่วนของภาพได้ชำรุดไปตามกาลเวลา ตัวภาพเขียนด้วยสีแดงแบบระบายสีทึบ เมื่อมองแล้วมีลักษณะคล้ายภาพขบวนคาราวานของคนสมัยก่อน สันนิษฐานว่าอดีตบริเวณนี้น่าจะเป็นเส้นทางที่คนสมัยโบราณ ใช้เดินทางติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชุมชน อาจใช้เพิงผาแห่งนี้เป็นที่หยุดพักชั่วคราว และได้ขีดเขียนวาดภาพไว้บนผนังเพิงผาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ

ถัดมาที่ ภาคกลาง มี 2 แหล่งที่น่าสนใจ แห่งแรก คือ “แหล่งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์เขาหัวหมวก” ต.ศรีกะอาง อ.บ้านนา จ.นครนายก พบภาพเขียนสีอยู่บนก้อนหินโดดขนาดใหญ่ วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก มีหินก้อนเล็กรูปทรงสามเหลี่ยมวางอยู่ด้านบนคล้ายกับสวมหมวก จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “เขาหัวหมวก” ภาพเขียนสีที่พบเขียนด้วยสีแดง กระจายตัวอยู่บนผนังก้อนหินใหญ่ แบ่งกลุ่มภาพเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มภาพบนผนังก้อนหินทิศเหนือ ส่วนใหญ่เป็นภาพลายเรขาคณิต เช่น เส้นตรง เส้นหยัก เรียงกันในแนวตั้ง 2.กลุ่มภาพบนผนังก้อนหินทิศใต้ พบภาพเขียนสีแดงอยู่บริเวณที่มีร่องรอยของหินกะเทาะหลุดร่วง จำนวน 3 ภาพ ภาพสัตว์ 2 ภาพ เป็นสัตว์มีเขาและโหนกบนสันหลังคล้ายกับวัวป่า/ กระทิง และภาพไม่ทราบรูปแบบที่แน่ชัด 1 ภาพ 3.กลุ่มภาพบนผนังก้อนหินทิศตะวันตก พบภาพสัตว์มีเขาและโหนกบนสันหลัง วัว/กระทิง สภาพซีดและเลือนราง ซึ่ง แสดงให้เห็นว่าเขาหัวหมวกน่าจะเป็นพื้นที่สำคัญของกลุ่มคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อาจเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตหรือความเชื่อ เช่น การล่าสัตว์ น่าจะเขียนขึ้นในช่วงสมัย สังคมกสิกรรมหรือประมาณ 3,500–1,500 ปีมาแล้ว

แห่งที่ 2 คือ “แหล่งภาพเขียนสีเขาปลาร้า” ต.ป่าอ้อ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี พบภาพเขียนสีบนผนังเพิงผาบนเขาปลาร้า ซึ่งสูงชันมากประมาณ 40 ภาพ เขียนได้เหมือนจริง และใกล้เคียงกับธรรมชาติมาก ส่วนใหญ่เป็นภาพคนและภาพสัตว์ โดยภาพคนแสดงอาการเคลื่อนไหวในท่าทางต่างๆกัน มีการประดับตกแต่งร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณเอว ซึ่งอาจเป็นผ้าคล้ายผูกเป็นโบห้อยชายและบนศีรษะอาจมีกิ่งไม้หรือขนนก ที่ข้อมืออาจสวมกำไล ส่วนภาพสัตว์ซึ่งอาจเป็นภาพวัวหรือกระทิง กวาง สุนัข ไก่ เต่า และกบ ทั้งนี้ ภาพคนกับสัตว์มักอยู่ร่วมกัน แสดงความสัมพันธ์ กันเป็นเรื่องราวเดียวกัน ภาพทั้งหมดที่เขียนไว้น่าจะเป็นการวาดขึ้นเนื่องในพิธีกรรมของกลุ่มคนที่มีความเชื่อร่วมกันมาใช้สถานที่นั้น จึงปรากฏเรื่องราวของขบวนแห่ ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนที่ทำการเกษตรกรรม

จากภาคกลางก็ล่องลงสู่ ภาคใต้ ที่ จ.กระบี่ มี 2 แหล่ง ได้แก่ “แหล่งภาพเขียนสีแหลม ไฟไหม้” ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก ในเขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี กลุ่มภาพเขียนสีปรากฏบริเวณผนังของเพิงผา เขียนด้วยสีแดงกลุ่มใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ดังนี้ 1.ภาพบุคคลยืนอยู่ชิดติดกันลักษณะคล้ายคนแฝด หรือคนหนึ่งอาจเป็นคนพิการหรือร่างกายผิดปกติและอีกคนกำลังพยุงอยู่ ส่วนภาพอื่นๆ คล้ายบุคคลแสดงกิริยาต่างๆ และปรากฏอยู่รวมเป็นกลุ่มกับภาพสัตว์และภาพเรขาคณิต 2.ภาพสัตว์ คล้ายปลา ไม่มีครีบหาง, ภาพคล้ายนก, ภาพคล้ายแมงกะพรุน 2 ภาพ 3.ภาพคล้ายพระจันทร์เสี้ยว 4.ภาพเรขาคณิต นอกจากนี้ ยังมีภาพที่เป็นลายจุด ภาพที่เกิดจากการเขียนเส้นต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยมจนมีลักษณะคล้ายเรือที่มีภาพบุคคลหรือสัตว์อยู่ด้านบนอีกด้วย

และที่สุดท้าย เป็น “แหล่งภาพเขียนสีถ้ำผีหัวโต” ต.อ่าวลึกใต้ อ.อ่าวลึก เป็นภูเขาหินปูนในอ่าวพังงา ภาพเขียนมีปรากฏในถ้ำสองคูหาตามฝาผนังถ้ำและเพดาน จำนวน 163 ภาพ เป็นภาพคน แสดงให้เห็นใบหน้าและเส้นผม ประดับตกแต่งร่างกายไม่ซ้ำแบบกัน แสดงอาการเคลื่อนไหวและอยู่นิ่งเฉยๆ ภาพสัตว์ประเภท นก ไก่ ปลา ปลาหมึก จระเข้ เม่น และกุ้ง ภาพมือและเท้าและภาพลายเส้น ซึ่งอาจเป็นภาพเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น แห หรืออวน และเรือ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าในถ้ำนี้มีกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการจับสัตว์น้ำเป็นหลัก โดยใช้เรือแพเป็นพาหนะเข้ามาใช้ถ้ำนี้พักอาศัยและประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อเป็นครั้งคราวและดำเนินการติดต่อกันเป็นเวลานาน.