22 มี.ค. วันพระราชสมภพพระเจ้าตากสินมหาราช มีประวัติและผลงานสำคัญอย่างไร




เดิมหนังสือประวัติศาสตร์ไทย เขียนถึงวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์พระองค์เดียวแห่งราชวงศ์กรุงธนบุรี ไว้ว่าเป็นวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2277 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ภายหลังจากการตรวจสอบจากบันทึกชาวฝรั่งเศส นับย้อนจากวันสวรรคต จะตรงกับวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2277

นักประวัติศาสตร์ไทยที่ได้ศึกษาวันสวรรคตตามบันทึกไว้ของไทย หากนับวันสวรรคตวันที่ 6 เมษายน 2325 วันพระราชสมภพจะตรงกับวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2277

พระราชประวัติพระเจ้าตากสินมหาราช

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นบุคคลที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย พระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ พระองค์เป็นผู้กอบกู้เอกราชจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 และย้ายราชธานีมาตั้งที่กรุงธนบุรี ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์กรุงธนบุรี รวมระยะเวลาครองราชย์ 14 ปี 151 วัน

พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน บิดาชื่อ นายหยง แซ่แต้ มารดาชื่อนางนกเอี้ยง เป็นชาวไทย หลักฐานพระราชประวัติของพระเจ้าตากสินมีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารยุคจักรพรรดิเฉียนหลง ว่า “บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายที่เสียมล่อก๊ก และเกิดเจิ้งเจาที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่าแล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ”

นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์ยังพบสุสานบรรจุฉลองพระองค์ของพระเจ้าตากสินที่ตำบลหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ จังหวัดแต้จิ๋ว (เฉาโจว) มณฑลกวางตุ้ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน และพบศาลประจำตระกูลสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2464 สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นผู้สืบราชสกุลพระเจ้าตากสินส่งฉลองพระองค์ไปฝังแทนพระบรมศพตามความเชื่อและธรรมเนียมของชาวจีน เป็นหลักฐานว่าบิดาของพระเจ้าตากสินเคยอยู่ที่ตำบลนี้ และอพยพมากรุงศรีอยุธยา

แบบอย่างความดีของพระเจ้าตากสิน

ด้านพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระบิดาประกอบอาชีพค้าขาย นักประวัติศาสตร์อธิบายว่า พระบิดาน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนมากกว่านายอากรบ่อนเบี้ย พระเจ้าตากจึงมีความเชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศและการเดินทาง รวมถึงมีสหายชาวจีนมาก ส่งผลให้ได้รับราชการเป็นเจ้าเมืองตาก

เมืองตากเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับชายแดนไทย-พม่า ผู้ที่จะเป็นเจ้าเมืองตากจึงมีหน้าที่ต้องปกป้องสันติราษฎร์ชายแดน ในพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเคยดำรงตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ก่อนได้รับเลื่อนตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ.2307 ได้สู้รบกับเหตุการณ์พม่ายึดหัวเมืองภาคใต้ของประเทศไทย จนมาถึงเมืองเพชรบุรี กรุงศรีอยุธยาจึงส่งพระยาโกษาธิบดีและพระยาตากไปเป็นแม่ทัพรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ จนกองทัพพม่าแตกไปยังด่านสิงขร

ปี พ.ศ.2308 พม่าได้กลับมาอีกครั้ง ผ่านทางเมืองตาก พระยาตากเห็นว่าสู้ไม่ไหวจึงส่งกองกำลังมาช่วยรักษากรุงศรีอยุธยาไว้อีกครั้ง จึงได้รับความชอบที่ส่งทหาร 500 นายมาช่วยพระนคร ได้รับบำเหน็จความดีความชอบ ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ

เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดคือ การต่อสู้กอบกู้เอกราชในปี พ.ศ.2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว พระยาตากก็พากำลังพลมาที่เมืองจันทบุรี เมื่อรวบรวมกำลังพลได้ 5,000 นายแล้วจึงล่องเรือมาต่อสู้ยึดเมืองธนบุรีคืนจากพม่า และจับเจ้าเมืองธนบุรีที่พม่าแต่งตั้งประหารชีวิต แล้วเดินเรือต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา กอบกู้กรุงศรีอยุธยา โดยพม่ายึดกรุงได้เพียง 7 เดือนก็ถูกตีพ่ายเสีย

เมื่อกรุงศรีอยุธยามีสภาพแวดล้อมที่เสียหายมาก ไม่อาจเป็นเมืองราชธานีได้อีกต่อไป สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงเลือกธนบุรีเป็นเมืองราชธานี ผลงานที่สำคัญของพระเจ้าตากที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การสร้างราชธานีขึ้นมาใหม่ และปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ เพื่อให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นเหมือนเดิม

คาถาบูชาพระเจ้าตากสิน

คนไทยส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่าหากสักการบูชาพระเจ้าตากสินจะส่งผลเรื่องการค้าขาย การเรียน การงาน ปลดหนี้สิน ดังนั้นจึงมีผู้คนแวะเวียนไปสักการะที่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ณ ที่ต่างๆ

ปู่ตาก ตะกุ อิตัล ตากสิน ราชะ โยตังอิ (3 จบ)…คาถาอาราธนา อัญเชิญดวงพระวิญญาณ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

จุดธูปบูชา 9 ดอก ตั้งนะโม 3 จบ แล้วกล่าวคำบูชา “โอม สิโน ราชาเทวะ ชะยะตุภะวัง สัพพะศัตรู วินาสสันติ”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง