11 ตำหนิพิมพ์ใหญ่




ดูภาพสมเด็จฯ องค์ในคอลัมน์ให้เต็มตา เพ่งพินิจดูองค์รวมทั้งด้านหน้าด้านหลัง นี่คือพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ หนึ่งในสี่พิมพ์มาตรฐานวงการ องค์ที่ติดพิมพ์ลึกคมที่สุดองค์หนึ่ง

บางเส้นสายอาจไม่คมกริบ เพราะมีสภาพถูกใช้ เนื้อขาวละเอียดหนึกนุ่มซึ้งตา โดดเด่นออกจากพื้นผนังที่ยังดูดซึมฝ้ารักน้ำเกลี้ยงเอาไว้

ดูด้านหน้าว่าง่าย…พลิกไปดูด้านหลัง ยิ่งง่ายกว่า ริมขอบปริแยก พื้นหลังมีหลุมร่องสัญลักษณ์ สะดุดตาฝ้ารักสีน้ำตาล ตัดกับสีเนื้อพระขาว นี่ก็หลังมาตรฐานวัดระฆังที่ควรดูไว้เป็นองค์ครู

แต่บริเวณที่เด่นสะดุดตาคนรักพระสมเด็จ อยู่ที่แถบสังฆาฏิ ที่พาดจากไหล่ซ้าย มาสิ้นสุดกลางพระอุทร ยืนยันเป็นพระที่ติดแม่พิมพ์ลึกมาก เทียบได้กับองค์เสี่ยดม องค์เกศสะบัด ที่เห็นกันจนคุ้นตาได้

แถบสังฆาฏิพิมพ์ใหญ่ ไม่ว่าแม่พิมพ์ไหนหนาบางไม่เท่ากัน แต่ทิศทางไปทางเดียวกัน

ตามค่านิยมวงการพระที่ติดแถบสังฆาฏิคมลึกขนาดนี้ ถือเป็นพระที่เหนือกว่าพระสมเด็จองค์สวยทั่วไป

พระที่ติดแถบสังฆาฏิ จนถึงวันนี้เปิดโฉมในวงการราวสี่ห้าองค์ นี่คือสภาพพระที่ต้องใช้คำว่า อนรรฆค่า แปลว่า ไม่มีราคา พูดภาษาชาวบ้าน ราคาพูดกันไม่รู้เรื่อง

ไหนๆก็ได้โอกาสดูพระสวยคมซึ้งกันแล้ว ควรจะใช้องค์นี้เป็นองค์ทดสอบวิทยายุทธเซียนพระรุ่นใหญ่ “นิรนาม” บอกตำหนิพิมพ์สมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ สี่พิมพ์ ซึ่งมีมากถึง 11 ข้อเอาไว้ ดังต่อไปนี้

(นิตยสารพรีเชียส สเปเชียล ของอาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ พิมพ์ พ.ศ.2539)

ตำหนิที่ 1 กรอบนอกองค์พระสี่ด้าน เป็นเส้นนูน เพียงแต่บางองค์ตัดชิดด้านใน จึงไม่เห็น เฉพาะเส้นกรอบด้านซ้ายองค์พระเป็นเส้นนูนแล่นลงมาถึงระหว่างข้อศอกองค์พระ แล้วจมหายไปกับเส้นซุ้ม

ตำหนิที่ 2 กรอบแม่พิมพ์ด้านขวา เป็นเส้นนูนแล่นลงมาตลอด ชิดกับเส้นซุ้มด้านล่างสุด

ตำหนิที่ 3 เส้นซุ้มเรือนแก้ว เป็นเส้นค่อนข้างใหญ่นูน คล้ายเส้นหวายผ่าซีก ด้านในเส้นซุ้มเป็นเส้นตั้งจากพื้น พื้นองค์พระนอกเส้นซุ้ม จะเทลาดเอียงเล็กน้อย

ความโค้งของซุ้มเรือนแก้ว จะเหมือนกันทั้งสี่พิมพ์ ต่างกันเพียงเส้นซุ้มพิมพ์ที่ 1 หนากว่าเส้นซุ้มพิมพ์ที่ 2 ความหนาลดหลั่นกันไปจนถึงเส้นซุ้มพิมพ์ที่ 4

ตำหนิที่ 4 พระพักตร์สี่พิมพ์ เป็นเหมือนผลมะตูม ต่างกันที่จะอ้วนมากน้อยกว่ากัน

ตำหนิที่ 5 มีหูทั้งสองข้าง แต่บางองค์ติดไม่ชัด เซียนรุ่นพี่สอนเซียนรุ่นน้องว่า “เห็นหูรำไรอยู่ในที”

ตำหนิที่ 6 ตรงส่วนโค้งลำแขนติดหัวไหล่ หัวไหล่ขวาจะมีเนื้อหนากว่าหัวไหล่ซ้าย

ตำหนิที่ 7 หัวเข่าซ้ายองค์พระ นูนสูงกว่าหัวฐานชั้นแรก

ตำหนิที่ 8 หัวเข่าขวาจะนูนต่ำกว่าหัวฐานชั้นแรก

ตำหนิที่ 9 ลองเพ่งพิจารณา องค์พระพิมพ์ใหญ่ทุกพิมพ์ จะหันตะแคงไปทางด้านขวาองค์พระเล็กน้อย

และฐานชั้นที่ 1 2 3 จะหันไปทางซ้ายมือองค์พระ สลับกันกับการตะแคงขององค์พระ

ตำหนิที่ 10 บริเวณพื้นผนังระหว่างฐานทั้งสามชั้น พื้นผนังระหว่างฐานชั้นที่ 1 กับฐานชั้นที่ 2 สูงเสมอกับพื้น ส่วนพื้นผนังระหว่างพระเพลากับฐานชั้นที่ 1 และพื้นผนังระหว่างฐานชั้นที่ 2 กับฐานชั้นที่ 3 จะสูงกว่าพื้นผนังองค์พระ

ตำหนิที่ 11 พื้นนอกซุ้มจะสูงกว่าพื้นในซุ้มเล็กน้อย จนดูแทบไม่เห็น ต้องตะแคงพระดูจึงพอเห็น

เหล่านี้คือ 11 วิทยายุทธเซียนใหญ่ ตอนแรกที่เผยแพร่ ถือเป็นความลับตื่นเต้นกันทั้งวงการ แต่ถึงวันนี้ รู้กันแพร่หลาย ของปลอมก็พยายามทำตาม สุดท้ายก็ยังตัดสินใจกันที่เนื้อเก่าถึงอายุ ธรรมชาติครบ…อยู่นั่นเอง.

พลายชุมพล