100 อาหารผู้ป่วยโรคไต อะไรกินได้-ห้ามกิน พร้อมวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น




รู้หรือไม่ว่า คนไทยป่วยเป็น “โรคไตเรื้อรัง” มากกว่า 8 ล้านคน เนื่องจากพฤติกรรมการกินฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยว และอาหารประเภทเนื้อสัตว์หมักซอสและน้ำจิ้มต่างๆ ซึ่งถือเป็นภัยสุขภาพใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจาก “ไต” เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ที่ทำหน้าที่ช่วยกำจัดของเสีย และช่วยความสมดุลของเกลือแร่และน้ำภายในร่างกาย ผู้ที่ประสิทธิภาพของไตทำงานลดลง ก็อาจเกิดโรคไตลักษณะต่างๆ ตามมาได้ เช่น โรคไตเรื้อรัง, โรคไตวาย, โรคไตวายเฉียบพลัน เป็นต้น

ไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับโรคไตมาฝากกัน เพื่อให้ทุกคนได้ใช้เป็นแนวทางในการดูแลรักษาไตเบื้องต้น โดยเฉพาะเรื่องโภชนาการและอาหารการกิน อะไรควรกิน-ควรหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เสื่อมก่อนเวลาอันควร

สาเหตุโรคไตเกิดจากอะไร เพราะ “กินเค็ม” ใช่หรือไม่?

หลายคนอาจเข้าใจว่าโรคไตเกิดจากการรับประทานอาหารรสเค็ม แต่จริงๆ แล้ว โรคไตเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะจากพันธุกรรมและพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ก็ยังเกิดจากผลข้างเคียงของโรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อไตได้อีกด้วย รวมถึงการกินยาที่มีผลให้ไตทำงานหนัก เช่น ยาแก้ปวด หรือยาสมุนไพรบางชนิด ติดต่อกันนานจนเกินไป โดยสามารถสรุปสาเหตุของการเกิดโรคไตในเบื้องต้นได้ดังนี้

  • พันธุกรรมตั้งแต่กำเนิด หรือค่อยๆ แสดงอาการในภายหลัง
  • อายุมากกว่า 60 ปี การทำงานของไตจะเริ่มลดลง
  • มีไตบกพร่อง เนื่องจากการคั่งของโซเดียมในร่างกาย
  • ได้รับผลกระทบจากโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรคเกาต์ โรคถุงน้ำในไต เป็นต้น
  • บริโภคโซเดียมในปริมาณมากเกินไป ทำให้ไตทำงานหนักในการขับออกมาทางปัสสาวะ
  • กินอาหารรสจัด ไม่ใช่แค่เค็มจัด แต่ยังรวมถึงเผ็ดจัด หวานจัด
  • ใช้ยาผิดประเภท ทำให้มีการสะสมในไต และไตต้องทำงานอย่างหนัก 
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • มีภาวะความเครียด
  • ดื่มน้ำน้อย

เช็กอาการโรคไตเสื่อม เป็นอย่างไร?

หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับไตถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ซ่อมแซมตัวเองไม่ได้ ส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตในระยะแรก มักไม่มีสัญญาณเตือนมากนัก ผู้ป่วยจำนวนมากจึงมักจะรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคไตเมื่อมีอาการหนักแล้ว ดังนั้น การสังเกตอาการโรคไตถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยให้เราประเมินความปิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม สำหรับอาการโรคไต ที่มักปรากฏกับร่างกายมีดังนี้

  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • มักจะปวดหลังและบั้นเอวอยู่บ่อยๆ 
  • มีอาการปวดศีรษะ จนถึงคลื่นไส้และอาเจียน
  • มีอาการเบื่ออาหาร
  • ปัสสาวะผิดปกติ 
  • ตัวบวม

วิธีรักษาโรคไตทางการแพทย์ในปัจจุบัน

การรักษาโรคไตในปัจจุบัน จะเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ การรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารและโภชนาการ รวมถึงงดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงยาบางประเภท ไม่ซื้อยามารับประทานเอง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่อาการหนัก อาจต้องใช้วิธีอื่นๆ ในการรักษา เช่น บำบัดทดแทนไต ฟอกเลือด ฟอกไต ไปจนถึงปลูกถ่ายไตใหม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและประเมินของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

คนเป็นโรคไต กินอะไรได้บ้าง?

การควบคุมอาหารให้ถูกต้องและเหมาะสม ตั้งแต่ระยะแรกของโรค ถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับผู้ป่วยโรคไต เพราะจะสามารถช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ สำหรับอาหารที่เหมาะสำหรับผู้เป็นโรคไตในแต่ละระยะก็อาจมีความแตกต่างกัน บางชนิดห้ามกิน บางชนิดกินได้ แต่ต้องลดปริมาณลง หรือบางครั้งอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารจากการทอด มาเป็นการนึ่ง, อบ, ย่าง เพื่อลดปริมาณไขมัน โดยขอยกตัวอย่างอาหารที่คนเป็นโรคไตสามารถรับประทานได้ ดังต่อไปนี้

  • ปลาทู
  • ปลาช่อน
  • ปลานิล
  • ปลาทะเล
  • ปลาดุก
  • เนื้อไก่
  • เนื้อหมู
  • เนื้อปู
  • เนื้อกุ้ง
  • ไข่ขาว
  • กะหล่ำปลี
  • พริกหยวก
  • ถั่วลันเตา
  • หอมหัวใหญ่
  • ดอกกะหล่ำ
  • กระเทียม
  • ถั่วเหลือง
  • ถั่วงอก
  • น้ำมันรำข้าว
  • น้ำมันถั่วเหลือง
  • น้ำมันมะกอก
  • น้ำมันดอกทานตะวัน
  • ผักลวก
  • วุ้นเส้น
  • แกงจืดวุ้นเส้น
  • ผัดวุ้นเส้น  
  • เส้นเซี่ยงไฮ้
  • นมพร่องมันเนย
  • แป้งถั่วเขียว
  • อกไก่ไม่มีหนัง

หมายเหตุ : โรคไตในแต่ระยะ อาจสามารถรับประทานอาหารบางชนิดได้แตกต่างกัน จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ

คนเป็นโรคไต ห้ามกินอะไร? 

อาหารที่คนเป็นโรคไตควรจะควบคุมการบริโภคมีหลายชนิดด้วยกัน เพราะหากรับประทานเข้าไปจำนวนมาก ก็อาจกระตุ้นให้ไตทำงานหนักเพิ่มขึ้น และเป็นสาเหตุให้ไตเสื่อมระยะอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะอาหารที่มี “โซเดียม” ปริมาณมาก เพราะหากได้รับในปริมาณที่เกินกว่าร่างกายต้องการ ก็จะทำให้ไตไม่สามารถขับออกมาได้ จึงสะสมไว้ในเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูง และนำไปสู่โรคอื่นๆ โดยอาจกลายเป็นผู้ป่วยภาวะไตเสื่อมในที่สุด

ดังนั้น ผู้เป็นโรคไตจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง, ฟอสฟอรัสสูง, โพแทสเซียมสูง, คอเลสเตอรอลสูง, ไขมันอิ่มตัวสูง, อาหารหมักดอง, อาหารที่มีส่วนผสมของเนยและครีม, เนื้อสัตว์ปรุงรส หรือเนื้อสัตว์แปรรูป ยกตัวอย่างอาหารต่อไปนี้ ที่ไม่ควรบริโภคมากจนเกินไป 

  • เครื่องปรุงรส
  • ซอสพริก
  • ซอสมะเขือเทศ
  • ผงชูรส
  • น้ำจิ้มสุกี้
  • อาหารแปรรูป
  • เนื้อสัตว์แปรรูป
  • เบคอน
  • แฮม
  • ผักกาดดอง
  • ผลไม้กระป๋อง
  • อาหารกระป๋อง
  • อาหารหมักดอง
  • อาหารกึ่งสำเร็จรูป
  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • ข้าวต้มสำเร็จรูป
  • ซุปก้อน
  • ซุปชนิดซอง
  • น้ำปลา
  • ซีอิ๊วขาว
  • กะปิ
  • ไข่เค็ม
  • ไข่แดง
  • ไข่ปลา
  • ปลาเค็ม
  • ปลาร้า
  • ปลาส้ม
  • หนังหมู
  • กุนเชียง
  • หมูหย็อง
  • แหนม
  • ไส้กรอก
  • เป็ดพะโล้
  • ปลากระป๋อง
  • เครื่องในสัตว์
  • เนื้อสัตว์ติดมัน
  • เนื้อสัตว์แดดเดียว
  • ปลาหมึก
  • หอยนางรม
  • ขาหมู
  • เค้ก
  • พิซซ่า
  • ขนมอบที่เติมผงฟู
  • โดนัท
  • คุกกี้
  • มันฝรั่งทอดกรอบ
  • ปลาเส้น
  • ขนมกรุบกรอบ
  • ผักชี
  • บีทรูท
  • บรอกโคลี
  • มันเทศ
  • หัวปลี
  • คะน้า
  • มะเขือเทศ
  • ฟักทอง
  • กุ้งแห้ง
  • เมล็ดถั่ว
  • ผักกาดดอง
  • หัวปลี
  • แครอท
  • หน่อไม้ฝรั่ง
  • ผักโขม
  • ผักคะน้า
  • กล้วย
  • ฝรั่ง
  • ลูกพรุน
  • น้ำอัดลม
  • น้ำผลไม้บรรจุกล่องที่ใส่สารกันบูด
  • เบียร์

สุดท้ายนี้ อย่าลืมวิธีดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต ซึ่งเบื้องต้นทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงดื่มน้ำให้เพียงพอ ลดการรับประทานเนื้อแดง อาหารรสจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง พยายามควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม และอย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวด หรือแก้อักเสบด้วยตัวเองเป็นเวลานานๆ หากมีอาการผิดปกติก็ควรรีบพบแพทย์ทันที

อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โรงพยาบาลเพชรเวช

อ่านเพิ่มเติม