10 อันดับอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง กับประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพ




โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายเป็นปกติ เช่น ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โปแทสเซียมช่วยควบคุมสมดุลของอิเล็กโตรไลต์และสมดุลของกรด-เบสในร่างกาย ป้องกันภาวะกรดเกิน (Hyperacidity) และยังช่วยควบคุมความดันโลหิตที่สูง และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

มีรายงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่าในกลุ่มประชากรที่ได้รับโพแทสเซียมจากอาหารในปริมาณที่สูง มีค่าเฉลี่ยของความดันโลหิตและอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูงต่ำกว่ากลุ่มประชากรที่ได้รับโพแทสเซียมจากอาหารในปริมาณที่น้อย และยังพบว่าการได้รับโพแทสเซียมจากอาหารอย่างเพียงพอ มีผลช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังชนิดอื่นๆ โดยในงานวิจัยของ Ascherio และคณะ ได้รายงานว่าสามารถลดความเสี่ยงของภาวะการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) ได้ถึง 30%

ในคนปกติที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป ควรได้รับโพแทสเซียมในปริมาณ 4.7 กรัมต่อวัน (ข้อมูลจาก Food and Nutrition Board, Institute of Medicine) ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังได้รับปริมาณโพแทสเซียมต่ำกว่าปริมาณที่แนะนำ ซึ่งการที่จะทำให้ได้รับโพแทสเซียมอย่างเพียงพอในแต่ละวันนั้นทำได้ไม่ยาก เพราะโพแทสเซียมมีอยู่มากในอาหารหลากหลายชนิด เช่น ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำหรือไม่มีไขมัน ถั่วต่างๆ และธัญพืช เรามาพิจารณากันดีกว่าว่าอาหาร 10 อันดับที่มีปริมาณโพแทสเซียมสูงมีอะไรบ้าง

10 อันดับอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง กับประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพ

1. ผงโกโก้
ขนาดบริโภค 100 กรัม ปริมาณโพแทสเซียม 1.5 กรัม

2. ลูกพรุน (อบแห้ง)
ขนาดบริโภค 100 กรัม ปริมาณโพแทสเซียม 1.1 กรัม

3. ลูกเกด
ขนาดบริโภค 100 กรัม ปริมาณโพแทสเซียม 892 มิลลิกรัม

4. เมล็ดทานตะวัน
ขนาดบริโภค 100 กรัม ปริมาณโพแทสเซียม 850 มิลลิกรัม

5. อินทผาลัม
ขนาดบริโภค 100 กรัม ปริมาณโพแทสเซียม 696 มิลลิกรัม

6. ปลาแซลมอน
ขนาดบริโภค 100 กรัม ปริมาณโพแทสเซียม 628 มิลลิกรัม

7. ผักโขม (สด)
ขนาดบริโภค 100 กรัม ปริมาณโพแทสเซียม 558 มิลลิกรัม

8. เห็ด
ขนาดบริโภค 100 กรัม ปริมาณโพแทสเซียม 484 มิลลิกรัม

9. กล้วย
ขนาดบริโภค 100 กรัม ปริมาณโพแทสเซียม 358 มิลลิกรัม

10. ส้ม
ขนาดบริโภค 100 กรัม ปริมาณโพแทสเซียม 181 มิลลิกรัม

จะเห็นได้ว่าเราสามารถเลือกรับประทานอาหารได้หลากชนิด เพื่อให้ได้รับโพแทสเซียมในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน แต่ทั้งนี้ เราควรบริโภคอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำตาล ไขมัน คอเลสเตอรอล ฯลฯ ที่มีอยู่ในอาหารด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคต่างๆ และเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

แม้ว่าการที่ร่างกายเราได้รับโพแทสเซียมอย่างเพียงพอจะเป็นประโยชน์หลายอย่างต่อสุขภาพ แต่ยังมีข้อควรระวังในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ มีความบกพร่องในการขจัดโพแทสเซียมออกจากร่างกาย เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เบาหวาน และภาวะหัวใจล้มเหลว ควรได้รับโพแทสเซียมน้อยกว่า 4.7 กรัมต่อวัน (ปริมาณเท่าใดที่จะเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนนั้น ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้ดูแล) เพื่อป้องกันภาวะการมีโพแทสเซียมที่มากเกินไป (Hyperkalemia) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

บทความโดย : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล