ไวรัสโควิด-19 ไม่แพร่ผ่าน “นมแม่” WHO ยืนยันแม่ติดเชื้อให้นมลูกได้




วันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี เป็นสัปดาห์นมแม่โลก ซึ่งแน่นอนถ้าในช่วงเวลาปกติก็อาจจะไม่มีคำถามชวนสงสัย แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แม่หลังคลอดที่เป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ยังคงสามารถให้นมลูกได้หรือไม่ เชื่อว่าเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบจากบรรดาคุณแม่ทุกคนแน่นอน

คำตอบจาก นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานใดยืนยันได้ว่า มีการติดเชื้อโควิด-19 ผ่านทางการให้นมลูกของแม่ จึงยืนยันได้ว่า แม้จะติดโควิด-19 แม่ก็ยังสามารถให้นมลูกได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) อย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัยขณะให้นมลูก หมั่นล้างมือให้สะอาด ถูกวิธี จนกว่าจะพ้นระยะของการป่วยด้วยโควิด-19

“ในกรณีที่แม่ติดเชื้อแต่มีอาการไม่มาก สามารถให้นมจากเต้าได้ปกติ แต่ต้องมีการป้องกันและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ” อธิบดีกรมอนามัยบอก พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในกรณีการให้นม เมื่อแม่ติดเชื้อโควิด–19 ลูกควรอยู่ห่างจากแม่อย่างน้อย 2 เมตร หรือมีม่านกั้น สวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่อยู่กับลูก ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์เข้มข้น 70% ขึ้นไป ก่อนการสัมผัสตัวลูก และทำความสะอาดฆ่าเชื้อ บริเวณพื้นผิวต่างๆที่คุณแม่สัมผัส รวมทั้งควรล้างทำความสะอาดหน้าอก เมื่อมีการไอหรือจามรดหน้าอก และห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูกหรือปาก รวมถึงการหอมแก้มลูกขณะให้นม

คุณหมอสุวรรณชัย ยังบอกด้วยว่า แต่ถ้าคุณแม่ยังไม่มั่นใจที่จะให้นมจากเต้า ก็สามารถบีบเก็บน้ำนมได้ โดยให้พ่อหรือผู้ช่วยเป็นผู้ป้อนนมให้ลูกแทน ซึ่งผู้ช่วยควรจะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี มีทักษะในการป้อนนม และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด

“ที่ต้องระวังมีเรื่องเดียวคือ ในกรณีที่แม่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง อาจจะต้องงดให้นมบุตร หรือบีบน้ำนมทิ้งไปก่อน เพื่อให้คงสภาพที่สามารถให้นมลูกได้เมื่ออาการดีขึ้น” คุณหมอสุวรรณชัย ย้ำ

นอกจากนี้ แม่หลังคลอดที่ให้นมลูกควรเข้ารับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดการเจ็บป่วยรุนแรง เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในแม่ ยังสามารถส่งผ่านน้ำนมไปยังลูกได้ด้วย

อธิบดีกรมอนามัยยังบอกด้วยว่า ในทางตรงกันข้าม นมแม่เป็นเครื่องป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับทารกจากการติดเชื้อในช่วง COVID-19 เพราะในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่จำเป็นสำหรับทารก มีคุณประโยชน์เหมาะสมตามช่วงวัยของการเจริญเติบโต โดยเฉพาะนมแม่ในระยะแรกคลอด ที่ถือเป็นวัคซีนหยดแรกของลูก ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค ส่งผลให้ลูกปลอดภัยจากไข้หวัด ปอดอักเสบ และท้องร่วงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะหัวน้ำนม หรือโคลอสตรัมที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆที่ส่งผลต่อสมองให้ลูกรักเติบโตอย่างฉลาดสมวัย

ทั้งนี้ มีหลักฐานสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างท่วมท้น ยูนิเซฟ ยืนยันว่า จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการตรวจพบการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ผ่านทางน้ำนมแม่และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่.