“โปลิโอ (Polio)” โรคร้ายที่ต้องเริ่มกลับมาเป็นที่ระวังป้องกัน




“การติดเชื้อโปลิโอ (Polio)” เกิดจากไวรัสโปลิโอ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Human Enterovirus) เป็นการติดเชื้อแบบฉับพลันที่แพร่กระจายได้ง่าย ผู้ที่ติดเชื้อโปลิโออาจไม่มีอาการเลย แต่บางรายอาจทำให้เกิดการพิการหรือการเสียชีวิตได้ เนื่องจากไวรัสนี้นิยมไปที่ระบบประสาท

ไวรัสโปลิโอสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ง่าย โดยมักจะติดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้

1. การสัมผัสสิ่งที่มีการปนเปื้อนของอุจจาระ โดยไวรัสในอุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ สามารถมีชีวิตได้หลายสัปดาห์

2. จากละอองฝอยขนาดใหญ่ที่เกิดจากเสมหะหรือน้ำลายผ่านทางการไอหรือจาม แล้วผ่านมาทางมือหรือสิ่งของต่างๆ แล้วมาสัมผัสกับปาก

หลังจากไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางปาก จะไปแบ่งตัวในต่อมน้ำเหลือง ไปที่ก้านสมอง (brain stem) และระบบประสาท ทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาต คือ การชา เจ็บเสียว หรืออ่อนแรงของร่างกาย โดยคนที่ติดเชื้อประมาณร้อยละ 90 ไม่มีอาการใดๆ แต่คนที่มีอาการจะคล้ายคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ เจ็บคอ เหนื่อย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนและปวดท้อง มักจะมีอาการอยู่ 2-5 วัน แล้วหายไปเอง

พบเพียงร้อยละ 0.1-1 จะมีอาการที่รุนแรงขึ้น และส่งผลกับสมองและไขสันหลัง คือ มีอาการชา หรือเจ็บเสียวบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง ปวดหัว คอแข็ง มีไข้และอาเจียนพุ่ง หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง มักพบในมือ ขา หรือทั้งมือและขา

ในระยะยาวจะทำให้พิการถึงเสียชีวิตได้ เนื่องจากไปกดกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ

การวินิจฉัย

โรคนี้สามารถวินิจฉัยจากอาการ อาการแสดงและประวัติเสี่ยงแล้ว การตรวจทางเลือด อุจจาระ เสมหะ การป้ายคอตรวจ และการเจาะน้ำไขสันหลังก็มีความสำคัญในการวินิจฉัยโรค และวินิจฉัยแยกโรค โดยเชื้อสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ถึง 2 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการ

ขณะนี้ประเทศไทย ยังไม่ได้มีการระบาดชัดเจน แต่ก็มีผู้เดินทางเข้าออกประเทศเป็นจำนวนมาก ประกอบกับในหน้าฝนที่มีฝนตกหนัก และน้ำท่วมขัง อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของขยะและสิ่งปฏิกูลได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังโดย

● การกินอาหารและดื่มน้ำที่สุก สะอาด
● รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ทำความสะอาดผิวกาย และล้างมือบ่อย ๆ อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะหลังออกจากห้องน้ำ
● ทำความสะอาดพื้นผิวสาธารณะ
● หากอยู่ในที่แออัด หรือมีผู้ที่ไอจาม การสวมหน้ากากอนามัยก็ยังสามารถช่วยลดการติดเชื้อผ่านทางละอองฝอยได้
● กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ให้มิดชิดและเหมาะสม
● ถ้ามีอาการ อาการแสดง หรือประวัติเสี่ยงที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อโปลิโอ ให้พบแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

การป้องกัน

โรคโปลิโอสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ วัคซีนชนิดฉีดแบบเชื้อตาย (Inactivated poliovirus vaccine: IPV) และวัคซีนชนิดกิน (oral poliovirus vaccine: OPV) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ยังนิยมใช้กันทั่วโลก แต่มีรายงานทำให้เกิดการติดเชื้อจากวัคซีนได้ เริ่มเป็นที่นิยมน้อยลงในประเทศที่พัฒนาแล้ว

________________________________________________

แหล่งข้อมูล
อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เอกสารอ้างอิง :

Mbaeyi C, Baig S, Khan Z, Young H, Kader M, Jorba J, Safdar MR, Jafari H, Franka R. Progress Toward Poliomyelitis Eradication – Pakistan, January 2020-July 2021. MMWR Morb Mortal Wkly Rep. 2021;70(39):1359. Epub 2021 Oct 1. 
Brown B, Oberste MS, Maher K, Pallansch MA.
Complete genomic sequencing shows that polioviruses and members of human enterovirus species C are closely related in the noncapsid coding region.
J Virol. 2003;77(16):8973. 
https://www.cdc.gov/polio/what-is-polio/index.htm Accessed on 11th August 2022