แพทย์เตือน ตรวจ ATK ระวังผลลบปลอม แนะกักตัวป้องกันการระบาด




จากการระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากตื่นตัวกับการซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจผลโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน เพื่อลดภาระหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจ RT-PCR แก่ผู้ป่วย ว่าแต่ความแม่นยำของชุดตรวจ ATK สามารถเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน รศ. พญ. ดร. วีรวรรณ ลุวีระ ภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จะมาให้คำตอบ

รศ. พญ. ดร. วีรวรรณ ลุวีระ ภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

“ต้องเข้าใจก่อนว่าการตรวจ ATK เป็นแค่การตรวจกรอง ความน่าเชื่อถือของ ATK ก็มีหลายปัจจัย เช่น ตรวจตอนมีอาการหรือเปล่า ถ้าเพิ่งไปสัมผัสโรคหรือผู้ป่วยมาแล้วตรวจวันรุ่งขึ้นยังไงก็ไม่เจอผล เพราะโรคต้องมีระยะฟักตัว รวมถึงวิธีการตรวจที่ถูกต้องหรือเปล่าด้วย เพราะเป็นการตรวจด้วยตนเอง การอ่านผล การหยอดน้ำยาต่างๆ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญประมาณหนึ่ง อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับว่าเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคสูงด้วยหรือเปล่า นอกจากนี้ผลจากชุดตรวจ ATK จะเป็นบวกก็ต่อเมื่อมีเชื้อเยอะพอสมควร แต่ก็อาจจะมีคนที่ตรวจไม่เจอด้วยเพราะมีเชื้อน้อย หากตรวจเจอผลบวกก็เชื่อได้ว่าเป็นบวกจริง แต่ถ้าผลลบก็อาจจะเป็นลบปลอมได้ถ้าหากอยู่ในช่วงฟักตัวหรือมีเชื้อน้อย โดยเฉพาะคนที่ไม่มีอาการเลยหรือเพิ่งได้รับเชื้อมาความไวในการตรวจด้วย ATK จะน้อยลงมาก”

และด้วยผลลบปลอมเพราะตรวจด้วย ATK ไม่เจอนี้จึงทำให้เกิดการระบาดมากขึ้นได้ เนื่องจากผู้ที่มีความเสี่ยงเพราะไม่แสดงอาการส่วนใหญ่มักจะมั่นใจว่าตนเองไม่ติดเชื้อจึงออกไปใช้ชีวิตตามปกตินั่นเอง ดังนั้นแม้ว่าจะได้ผลลบก็ไม่ควรชะล่าใจ ควรทำการกักตัวให้ครบ 14 วันเพื่อดูอาการว่าติดเชื้อโควิด-19 จริงหรือไม่ ซึ่งนอกจากช่วยลดการแพร่ระบาดแล้วยังช่วยลดภาระหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

“หากติดเชื้อแล้วมีอาการเมื่อตรวจด้วย ATK จะได้ผลเป็นบวกจริง ซึ่งกรณีนี้สามารถเข้ารับการรักษาในระบบ Home Isolation ได้เลยโดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ไปได้ระดับหนึ่ง แต่ในทางกลับกันหากไปสัมผัสผู้ติดเชื้อแล้วตรวจได้ผลลบปลอมและยังไม่กักตัวเพื่อดูอาการก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพราะทำให้เกิดการระบาดเพิ่มเช่นกัน” รศ. พญ. ดร. วีรวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่ไม่มั่นใจว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่และต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้ไม่กลายเป็นผู้แพร่เชื้อโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จำกัดความของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไว้ดังนี้

ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (high risk contact) หมายถึง ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  • ผู้ที่เรียน ผู้อาศัยร่วมห้องพัก หรือทำงานในห้องเดียวกัน
  • ผู้คลุกคลีกับผู้สัมผัสที่มีการพูดคุยกับผู้ติดเชื้อในระยะ 1 เมตร นานกว่า 5 นาที โดยไม่ใส่หน้ากาก
  • ถูกไอ จาม รด จากผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
  • ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ในห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ติดเชื้อ โควิด-19 และอยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า

สิ่งที่ต้องทำ: ต้องเข้ารับการกักกันโรค และตรวจหาเชื้อจากทางห้องปฏิบัติการ