แกะรอย “โอมิครอน” วัคซีนหลายเข็ม..ป้องกันได้จริงหรือ?




งานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ ที่สนับสนุนโดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐฯหรือ CDC ทำวิจัยในคนอเมริกัน มีข้อมูลน่าสนใจอันหนึ่ง ที่ตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ว่า เพราะเหตุใด คนที่ได้รับวัคซีนในจำนวนโดสสูง เช่น เข็ม 3 หรือเข็ม 4 มีอัตราการเข้าโรงพยาบาลมากขึ้นจากการติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยข้อมูลที่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็นวัคซีน J&J จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรือกลุ่ม mRNA อย่างไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า กรณี Omicron การกลายพันธุ์ของ S Protein จะทำให้วัคซีนไม่ได้ผลหรือทำให้เกิด Antibody Dependent Enhancement (ADE) หรือการเร่งโดยอาศัยแอนติบอดี ที่ทำให้เชื้อสามารถเข้าสู่เซลล์ของโฮสต์ได้มากขึ้น เพิ่มจำนวนได้มากขึ้น เหมือนกรณีของการติดเชื้อไข้เลือดออก ที่การป่วยมากกว่าหนึ่งครั้งจะทำให้อาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆหรือไม่ และยังมีคำถามต่อไปอีกว่า การฉีดวัคซีนในจำนวนโดสที่มากขึ้น มีผลต่อการติดเชื้อได้มากขึ้นหรือไม่

ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายนักวิจัยและวงการแพทย์ในหลายๆประเทศ ที่พยายามหาคำตอบว่า การฉีดวัคซีนซ้ำๆอาจทำให้เกิด Antibody Dependent Enhancement (ADE) หรือไม่ ซึ่งดูจาก Odds Ratio หรือแต้มต่อความเป็นไปได้ มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ยิ่งจำนวนโดสมากขึ้น ยิ่งติดโรคมากขึ้น เป็นข้อมูลจากงานวิจัยที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ติดโอมิครอนสูงในผู้ฉีดวัคซีนมากสูงกว่าในผู้ฉีดวัคซีนน้อย

อย่างไรก็ดี ข้อมูลนี้ได้จากประชากรในงานวิจัยจำนวน 69,279 คน ซึ่งไม่ใช่ประชากรในชุมชนจริงๆ แต่เป็นคนป่วยโควิดทั้งสิ้นคือ ไม่เป็นเดลตา ก็เป็นโอมิครอนอย่างใดก็อย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าจะคำนวณแต้มต่อความเป็นไปได้ ซึ่งต้องใช้ข้อมูลโอกาสป่วยเป็นโอมิครอนหารด้วยโอกาสไม่ป่วย แต่ในการวิจัยนี้คนไม่ป่วยเป็นโอมิครอนก็คือคนเป็นเดลตา จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การฉีดวัคซีนมากเข็ม ทำให้โอกาสป่วยรุนแรงสูงขึ้นหรือไม่ หรือมีโอกาสเกิด ADE หรือไม่ คงต้องมีการวิจัยต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะใช้เวลาหลายปี
เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าการรับวัคซีนที่ในจำนวนโดสสูง ทำให้ป่วยเข้าโรงพยาบาลมากขึ้นจริงหรือไม่ ตอบว่า จริงระดับหนึ่งในขอบเขตข้อจำกัดของค่าแต้มต่อ (odd ratio) ของงานวิจัยครั้งนี้

ส่วนที่ว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่ากรณี Omicron การกลายพันธุ์ของ S Protein จะทำให้วัคซีนไม่ได้ผล ตรงนี้ยังไม่มีข้อมูลจริง ซึ่งถ้าจะตอบในเวลานี้ นักวิจัยบอกว่า อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ว่าของจริงจะเป็นอย่างไรต้องตามดูกันต่อไป ข้อมูลที่มีอยู่ในเวลานี้ยังไม่สามารถสรุปได้

สิ่งที่ต้องติดตามขณะนี้คือ ยังไม่มีการตีพิมพ์ผลวิจัยวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโอมิครอนออกมาแม้แต่ชิ้นเดียว มีข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ก็คือ โอมิครอน แพร่ได้เร็วมาก ข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าโอมิครอนแพร่ได้เร็วกว่าเดลตาถึง 1.6 เท่า ดร.ทิม สเปคเตอร์ แห่งองค์กร ZOE ซึ่งทำฐานข้อมูลดีที่สุดในโลกในเรื่องโควิดให้ข้อมูลว่า 69% ของคนติดเชื้อโควิดในอังกฤษตอนนี้เป็นโอมิครอน และประมาณการจากฐานข้อมูล ZOE ว่าทุก 2 คนที่เป็นหวัดในอังกฤษตอนนี้ 1 คนใน 2 คนนั้นเป็นผู้ติดเชื้อโอมิครอน คือ มากเท่ากับหวัดหารสอง ส่วนในสหรัฐอเมริกาเองตอนนี้โอมิครอน ครองแชมป์ไปเรียบร้อย ประมาณว่าภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้จะแพร่ไปทั่วทุกหัวระแหงของอเมริกา

อีกข้อมูลหนึ่ง คือ โอมิครอนเล็ดลอดภูมิคุ้มกันได้มาก หรือพูดแบบบ้านๆก็คือ ดื้อวัคซีน ข้อมูลของ CDC พบว่า โอมิครอนไม่สนองตอบต่อวัคซีนได้สูงถึง 43% ข้อมูลจากการให้ข่าวทั้งแอฟริกา อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ ล้วนบ่งชี้ว่าผู้ป่วยฉีดวัคซีนสามเข็มก็ยังติดเชื้อโอมิครอนได้ กลไกที่มันดื้อนี้ก็ทราบกันดี แล้วว่า วัคซีนที่นิยมกันทุกวันนี้นั้นออกแบบให้มุ่งทำลาย spike protein แต่ว่าเชื้อสายพันธ์ุ์โอมิ ครอนนี้เปลี่ยนส่วน spike protein ของมันไปมากที่สุดจนไม่เหมือนวัคซีนเสียแล้ว

อีกประเด็นที่นักวิจัยค้นพบคือ ไม่มีวัคซีนไหนในขณะนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ต่อโอมิครอนได้ เพราะวัคซีนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อเชื้อแบบนี้ได้ต้องเป็นวัคซีนที่นอกจากจะถูกรับเข้าร่างกายแล้วออกฤทธิ์ (uptake) ได้เร็วมากแล้ว ยังต้องมีประสิทธิผลระดับ 100% ด้วย ซึ่งขณะนี้ไม่มีวัคซีนแบบนั้น ในแง่ข้อมูลทางคลินิก งานวิจัยขนาดเล็กที่มหาวิทยาลัยโอเรกอนเฮลท์ไซน์ ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA พบว่าการติดเชื้อจริงหลังได้วัคซีน (breakthrough infection) ให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงว่าการฉีดวัคซีนบูสต์เตอร์ (เข็มสาม) ถึง 10 เท่า

ซึ่งข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดคือ นับถึงวันนี้ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนโควิดเข็มสามจะลดอัตราตายจากโรคโควิดลงได้ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ไม่ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มสามยกเว้นในคนไข้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunocompromised) ที่วัคซีนสองเข็มแรกยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่มากพอ.