เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “การดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้” (ตอน 1)




“ผู้สูงอายุ (Older person)” ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ หมายถึง ประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งก็ตรงกับนิยามผู้สูงอายุของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546

เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ เพราะมีสัดส่วนผู้สูงอายุในช่วง 60 ปีขึ้นไปถึง 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน และคาดการณ์ว่า อีก 20 ปีข้างหน้า (ปี 2583) ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 3.5 ล้านคน นั่นหมายความว่า จะมีผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ในวัยพึ่งพิงมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญและใส่ใจ

ผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น แน่นอนว่าโรคภัยไข้เจ็บและโรคประจำตัวของแต่ละคนก็ย่อมมี รวมไปถึงมีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็น “ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้” ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด คอลัมน์ ศุกร์สุขภาพ สัปดาห์นี้จึงมีเรื่องราวน่ารู้ของเรื่องนี้มาบอกกล่าวกัน

การดูแลผู้สูงอายุซึ่งป่วยอัมพาตที่บ้าน

หลังจากผ่านพ้นการรักษาในโรงพยาบาลจนผู้ป่วยสามารถกลับไปอยู่ที่บ้านได้ ประสาทศัลยแพทย์และพยาบาลมักได้ประเมินสภาพผู้ป่วย ครอบครัวและความเป็นอยู่ พร้อมทั้งผู้ดูแล เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับไปอยู่บ้านของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยโรคทางสมองมักมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจไม่มากก็น้อย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นแบบชั่วคราวหรือถาวร ขึ้นอยู่กับความเสียหายของสมองที่เกิดขึ้น

เมื่อบุคคลในครอบครัวเกิดอาการอัมพาตขึ้นแล้ว สิ่งที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องยอมรบก็คือ ความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น การพยายามผ่อนหนักให้เป็นเบา การบำบัดฟื้นฟูที่ถูกต้อง มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกคนในครอบครัว ร่วมกับใช้ความอดทนอย่างสูงของผู้ที่จะทำหน้าที่ในการดูแล พร้อมทั้งยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และจัดระบบการดำเนินชีวิตให้เข้ากับสภาพความเป็นจริง บนพื้นฐานและขอบเขตความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะสามารถกระทำได้

บทบาทสำคัญของผู้ป่วยและญาติ รวมถึงผู้ดูแลในการกลับไปอยู่บ้าน คือ การปรับสภาพจิตใจให้เข้มแข็ง พร้อมที่จะสู้ต่อไป พยายามให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด ปฏิบัติกิจกรรมตามแผนการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมทั้งการให้ความร่วมมือในการออกกำลังกาย การทำกายภาพบำบัด กำลังใจจากญาติหรือทุกคนในครอบครัว มีความสำคัญอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือ ประคับประคองผู้ป่วยและป้องกันโรคแทรกซ้อน

ผู้ป่วยโรคทางสมองมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่าย เนื่องจากปัจจัยด้านกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง หรือเคลื่อนไหวด้วยตนเองได้น้อย ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญในการให้การดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง

ข้อควรปฏิบัติสำหรับญาติก่อนนำผู้ป่วยไปดูแลต่อที่บ้าน มีดังนี้

สอบถามแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรค/อาการ/ที่ผู้ป่วยเป็นในปัจจุบันให้เข้าใจมากที่สุด

ขอคำแนะนำจากแพทย์ในวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ยังไม่เข้าใจ หรือไม่มันใจในการดูแลผู้ป่วย

ซักถามให้เข้าใจเกี่ยวกับคำแนะนำในการใช้ยา ปริมาณยาที่ผู้ป่วยต้องรับประทาน รวมถึงเวลาที่รับประทานยาในแต่ละวัน ภาวะไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น หากผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลย จำเป็นต้องให้อาหารทางสายให้อาหารทางจมูก ญาติ/ผู้ดูแลต้องเรียนรู้วิธีการอย่างเข้าใจและถูกต้อง

หากผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ญาติ/ผู้ดูแลต้องเรียนรู้วิธีการดูดเสมหะ การช่วยหายใจ จากแพทย์หรือพยาบาลอย่างเข้าใจและถูกต้อง

การเช็ดตัว หรือการทำกายภาพบำบัด มีความจำเป็นที่จะป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคทางสมอง ญาติ/ผู้ดูแลต้องเรียนรู้วิธีการจากแพทย์หรือพยาบาลอย่างเข้าใจและถูกต้อง

สอบถามแพทย์ถึงนัดหมายที่จำเป็น เพื่อมาติดตามการรักษา หรือต้องมารับยา

ให้ข้อมูลสมาชิกในครอบครัวทราบล่วงหน้า เพื่อจัดเตรียมพื้นที่ ห้อง อุปกรณ์จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยเมื่อกลับถึงบ้าน พื้นที่ที่เหมาะสมคือ บริเวณชั้นล่าง ใกล้ห้องน้ำ โล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก ที่นอนที่ใช้ทั่วไปสามารถทดแทนเตียงในโรงพยาบาลได้

ญาติ/ผู้ดูแล เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง ไม่ใช่อุปกรณ์ราคาแพง การพลิกตัวผู้ป่วย การช่วยผู้ป่วยเคลื่อนไหวข้อต่อต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ที่นอนลม มิอาจป้องกันแผลกดทับได้

ต้องพึงระมัดระวังและป้องกันอย่างสูงสุด เพื่อลดโอกาสติดเชื้อจากบุคคลอื่นๆ มาสู่ผู้ป่วย เนื่องจากโอกาสติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ในอากาศจากละอองฝอยของน้ำลาย หรือการสัมผัสจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายดายมาก ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัส หรือปนเปื้อนละอองฝอยในอากาศ รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

สัปดาห์ยังเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ “อาการสำคัญของผู้สูงอายุที่ต้องสังเกตอย่างสม่ำเสมอ” รอติดตามกันนะครับ

@@@@@@

แหล่งข้อมูล

หนังสือแนวทางการดูแลผู้สูงอายุซึ่งป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ สำหรับประชาชนทั่วไป
โดย รศ. นท. ดร. นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล