เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “การดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้” (ตอน 3)




ข้อควรปฏิบัติที่ญาติหรือผู้ดูแลผู้สูงอายุห้ามละเลย มีดังนี้

11. ผู้ป่วยโรคทางสมองที่เป็นอัมพาต มักจะมีปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวะ ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องคาสายสวนปัสสาวะไว้ ดังนั้น การดูแลความสะอาดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในผู้ป่วยโรคทางสมองที่คาสายสวนปัสสาวะไว้ จะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้สวนปัสสาวะ การคาสายสวนมีความจำเป็น จะทำให้ดูแลผู้ป่วยได้ง่าย ผู้ดูแลควรทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ ต้องสังเกตปริมาณ สี กลิ่นของปัสสาวะ ตะกอน โดยวิธีนี้จะช่วยลดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะลงได้ และควรเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะอย่างน้อยเดือนละครั้ง

12. เนื่องจากผู้ป่วยโรคทางสมองที่เป็นอัมพาตมักมีการเคลื่อนไหวน้อย จึงพบว่ามีปัญหาในเรื่องท้องผูกได้ ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการขยับร่างกาย เช่น ทำกายภาพบำบัด พยายามให้ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระทุกวัน ถ้าเป็นไปได้ โดยให้ผู้ป่วยลุกไปถ่ายในห้องน้ำ หรือนั่งเก้าอี้ถ่ายอุจจาระเป็นเวลา พยายามจัดสถานที่ สิ่งแวดล้อมให้สะดวกสบายที่สุด ดูแลให้ได้รับอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้และน้ำอย่างเพียงพอ วันละ 2,000 ซีซี หากยังมีปัญหาเรื่องท้องผูก ควรปรึกษาแพทย์ หากจำเป็นอาจต้องพิจารณาสวนอุจจาระ ในบางรายอาจพบปัญหาท้องเสีย ถ่ายเหลวได้ จึงควรสังเกตอาการ หากพบมีการถ่ายอุจจาระเหลวบ่อยครั้ง ควรสังเกตปริมาณ สี และลักษณะของอุจจาระ ร่วมกับอาการอ่อนเพลียของผู้ป่วยแล้วรีบปรึกษาแพทย์ อย่างไรก็ตาม พึงระลึกว่าผู้ป่วยอาจมีการสูญเสียเกลือแร่และน้ำไปด้วยได้

13. ผู้ป่วยโรคทางสมองที่เป็นอัมพาตต้องได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และควรให้อาหารตามแพทย์สั่ง เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจขาดน้ำ หรือได้รับปริมาณน้ำมากเกินไป อาจมีการสูญเสียเกลือแร่ ทำให้ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ควรบันทึกและวัดปริมาณสารน้ำที่ร่างกายได้รับ และขับออกอย่างสม่ำเสมอ ควรสังเกตสีของอุจจาระ อุจจาระที่มีสีดำ อาจเกิดจากผู้ป่วยมีการเสียเลือดในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดภาวะซีด อ่อนเพลีย ปวดท้อง ต้องรีบปรึกษาแพทย์

14. ผู้ป่วยโรคทางสมองที่เป็นอัมพาตจะมีการขยายของปอดได้น้อย ซึ่งอาจเกิดจากการนอนนิ่งๆ นานๆ และไม่สามารถหายใจเข้าลึกๆ หรือไอออกแรงๆ ได้ ทำให้เกิดการคั่งของเสมหะในส่วนล่างของปอด ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย การสำลักเอาเศษอาหารหรือน้ำลายเข้าไปในหลอดลมผู้ป่วยโรคทางสมองที่เป็นอัมพาต เพิ่มโอกาสเกิดโรคปอดอักเสบ/ปอดบวม เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

ผู้ดูแลต้องพึงสังเกตลักษณะที่ผิดปกติของการหายใจ เช่น หายใจเร็วมากกว่า 30 ครั้ง/นาที หอบ เหนื่อย มีเสียงหายใจผิดปกติ และมีไข้ขึ้น ต้องรีบปรึกษาแพทย์ในทันที

15. การจัดท่าผู้ป่วยโรคทางสมองที่เป็นอัมพาตเป็นสิ่งสำคัญ ภาวะข้อติด เมื่อเกิดขึ้นแล้วยากแก่การให้การรักษา ควรจัดท่านอนที่ถูกต้องและควรเปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง ต้องทำให้ข้อต่อทุกข้อได้มีการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะข้อไหล่ ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า การกำลูกบอลยางในฝ่ามือช่วยให้มือเคลื่อนไหวข้อต่อต่างๆ

16. การจัดท่านอนที่ถูกต้องจะช่วยลดการเกิดแผลกดทับได้ การหนุนหมอนที่ศีรษะควรหนุนตั้งแต่ใต้ไหล่ และระวังอย่าหนุนหมอนเฉพาะที่ศีรษะ อย่าหนุนหมอนให้สูงจนคอของผู้ป่วยงอ พับไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป

17. ควรใช้ผ้าขนหนูนุ่มๆ รองใต้ข้อเท้า เพื่อป้องกันแรงกดทับที่ส้นเท้า อย่าใช้หมอนแข็งหรือใหญ่เกินไปวางใต้เข่า จะทำให้เกิดแผลกดทับได้

18. ผู้ดูแลควรช่วยป้องกันข้อเท้าตก และเกิดแผลกดทับที่ส้นเท้า จัดให้ขาที่เป็นอัมพาตอยู่ในท่าตรง ใช้ผ้าขนหนูนุ่มๆ วางที่สะโพกและใต้ข้อเท้า ควรจัดท่านอนตะแคง โดยให้ข้อสะโพก และเข่างอเล็กน้อย หนุนขาที่งอด้วยหมอน หรือผ้าขนหนูนุ่มๆ ในท่าที่สบาย ระวังอย่านอนทับแขนข้างที่เป็นอัมพาตนานเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก การจัดท่านั้นควรจัดท่าเหยียดขาตรง บนเตียงที่มีหมอนหนุนหลังพอสมควร รองแขนด้วยหมอนให้งอเล็กน้อยพอสบาย

19. ผู้ดูแลควรช่วยยืดแขน ขา ขยับข้อต่อต่างๆ โดยช่วยผู้ป่วยงอหรือเหยียดแขน ขาหรือนิ้ว เพื่อป้องกันข้อต่อต่างๆ ติด

20. เน้นการทำความสะอาด โดยการล้างมือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผู้ดูแลต้องหมั่นล้างมือ ใช้หน้ากากอนามัย ป้องกันละอองฝอยน้ำลาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อไปสู่ผู้ป่วย

______________________________________

แหล่งข้อมูล
หนังสือแนวทางการดูแลผู้สูงอายุซึ่งป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ สำหรับประชาชนทั่วไป
โดย รศ. นท. ดร. นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล