เปิดประวัติ “วันสุนทรภู่” 26 มิถุนายน รำลึกกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์




วันสุนทรภู่ เป็นหนึ่งในวันสำคัญของไทยที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึง “สุนทรภู่” ผู้ได้รับฉายาว่าเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ที่มีผลงานโดดเด่นด้านวรรณกรรม โดยเฉพาะนิทานเรื่องพระอภัยมณี และบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่คนไทยรู้จักกันดี

วันสุนทรภู่วันที่เท่าไร?

วันสุนทรภู่ ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 (วันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148)

ประวัติวันสุนทรภู่ มีที่มาอย่างไร?

สุนทรภู่ เป็นกวีเอกของราชสำนักแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีอีกฉายาว่า “กวี 4 แผ่นดิน” เกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เริ่มเข้ารับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “พระสุนทรโวหาร” ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนเสียชีวิตในวัย 69 ปี ซึ่งตรงกับในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) 

ประวัติสุนทรภู่ เดิมชื่อ ภู่ บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ต่อมาบิดามารดาหย่าร้างกัน มารดาได้ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ จึงได้พาสุนทรภู่เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลังกับตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้สุนทรภู่ได้คุ้นเคยกับชีวิตในรั้ววังตั้งแต่สมัยเด็กๆ

เมื่อโตขึ้นได้เข้าเรียนในพระราชวังหลัง และที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ก่อนที่จะเข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางในกรมพระคลังสวน แต่สุนทรภู่เป็นคนชื่นชอบการแต่งกลอนสุภาษิตมาแต่ไหนแต่ไร ในวัยเพียง 20 ปี ได้มีโอกาสแต่ง “นิราศพระบาท” ระหว่างติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350 

จนกระทั่งได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ราวปี พ.ศ. 2359 และได้แต่งกลอนบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” ที่ไม่มีผู้ใดแต่งต่อได้ ทำให้รัชกาลที่ 2 โปรดสุนทรภู่อย่างมาก และทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น “ขุนสุนทรโวหาร

ในระหว่างรับราชการสุนทรภู่ได้เมาอาละวาดและก่อเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับผู้ใหญ่ในวัง ทำให้ต้องโทษติดคุก แต่ก็ได้พ้นโทษอีกครั้ง เนื่องจากรัชกาลที่ 2 ทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “สังข์ทอง” ที่ไม่มีผู้ใดสามารถต่อกลอนได้ ทำให้ในช่วงชีวิตรับราชการในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้น สุนทรภู่มีชีวิตและผลงานที่โดดเด่นเป็นที่พอพระราชหฤทัย

สุนทรภู่รับราชการนาน 8 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2367 รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต สุนทรภู่จึงออกบวชที่วัดราชบูรณะ เป็นเวลานานถึง 18 ปี โดยได้เขียนนิราศต่างๆ ไว้มากมาย ก่อนที่ได้ถวายตัวอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น “พระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว“) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อีกครั้งเป็น “พระสุนทรโวหาร (ภู่)” ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวัง ในปี พ.ศ. 2394 ซึ่งตรงกับสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

ในช่วงบั้นปลายชีวิต สุนทรภู่ได้รับราชการต่ออีก 4 ปี และถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 69 ปี

ความสำคัญ และผลงานของสุนทรภู่

ผลงานสุนทรภู่ที่หลายคนรู้จักกันดีคือ “พระอภัยมณี” ซึ่งได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน และยังถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศอีกด้วย โดยใน พ.ศ. 2529 เป็นปีครบรอบวันเกิด 200 ปีของสุนทรภู่ ทางองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้สุนทรภู่เป็น “บุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม” ทำให้มีการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่เพื่อเผยแพร่ชีวิตและผลงานต่างๆ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากัน โดยผลงานสุนทรภู่ทั้งหมด มีดังนี้

ผลงานนิราศของสุนทรภู่ 9 เรื่อง 
– นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349)
– นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350)
– นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371)
– นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374)
– นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375)
– นิราศอิเหนา (คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3)
– รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385)
– นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385)
– นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388)
– นิทานกลอน 5 เรื่อง

ผลงานนิทานของสุนทรภู่ 5 เรื่อง
– โคบุตร
– พระอภัยมณี
– พระไชยสุริยา
– ลักษณวงศ์
– สิงหไกรภพ

ผลงานสุภาษิตของสุนทรภู่ 3 เรื่อง
– สวัสดิรักษา
– เพลงยาวถวายโอวาท
– สุภาษิตสอนหญิง
– บทละคร 1 เรื่อง

ผลงานบทละครและบทเสภาของสุนทรภู่ 3 เรื่อง
– บทละครอภัยนุราช
– บทเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม
– บทเสภาพระราชพงศาวดาร

ผลงานบทเห่กล่อมพระบรรทมของสุนทรภู่ 4 เรื่อง
– เห่เรื่องพระอภัยมณี
– เห่เรื่องโคบุตร
– เห่เรื่องจับระบำ
– เห่เรื่องกากี

ความสำคัญของวันสุนทรภู่ 2565 มีขึ้นเพื่อรำลึกถึง “สุนทรภู่” ผู้เป็นกวีเอกและบุคคลสำคัญของโลก อีกทั้งยังเป็นการศึกษาชีวิตและผลงานด้านวรรณกรรมอันทรงคุณค่า นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐ เอกชน และสถานศึกษาหลายแห่งก็มักจะจัดงานนิทรรศการวันสุนทรภู่ รวมทั้งประกวดแต่งคำกลอน แต่งนิทาน ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทยและอนุรักษ์มรดกทางวรรณกรรมของไทยสืบไป