เปิดความหมาย “ดอกมะลิ” พร้อมสรรพคุณที่มากกว่าความหอม




การมอบดอกมะลิในวันแม่ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่คนไทยปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน แต่ขณะเดียวกันดอกมะลิก็มีความหมายลึกซึ้งและมีสรรพคุณมากมายกว่าการเป็นสัญลักษณ์วันแม่เท่านั้น

ความหมายของดอกมะลิ

สาเหตุที่เราใช้ ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ ก็เพราะมีความหมายเปรียบเสมือนถึงความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีให้ลูกอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย เช่นเดียวกับความหอมของดอกมะลิ ที่มีกลิ่นหอมยาวนาน เพราะออกดอกตลอดทั้งปี ซึ่งนอกจากการนำดอกมะลิมามอบให้กับแม่แล้ว ยังนิยมนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยอย่างสวยงามเพื่อบูชาพระหรือนำมามอบให้แม่ในวันแม่ด้วย พวงมาลัยดอกมะลิจึงเปรียบเสมือนการบูชาแม่ผู้มีพระคุณของลูกๆ นั่นเอง

สรรพคุณของมะลิ

นอกจากความหอมและเป็นตัวแทนสัญลักษณ์วันแม่แล้ว ทุกส่วนของมะลิยังมีสรรพคุณทางยา นำมาใช้เป็นสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ ได้ด้วย โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เผยข้อมูลทางยาเกี่ยวกับมะลิไว้ดังนี้

  • รากของมะลิ ช่วยบรรเทาได้หลายโรค ทั้งปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก เลือดออกตามไรฟัน ช่วยรักษาหลอดลมอักเสบได้ หากนำรากมาฝนกินกับน้ำสามารถใช้แก้ร้อนในได้ คนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทรวงอก ให้นำรากมาประมาณ 1-1.5 กรัม ต้มน้ำกินก็ช่วยได้
  • ใบของมะลิ ช่วยรักษาอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องเสีย หากนำใบมาตำแล้วละลายกับน้ำปูนใส แต้มแผลฟกช้ำ แผลเรื้อรัง โรคผิวหนังจะหายไวขึ้น รวมทั้งช่วยบำรุงสายตา และขับน้ำนมสตรีที่มีครรภ์ได้ด้วย
  • ดอกมะลิ ช่วยแก้โรคบิด อาการปวดท้อง หากตำให้ละเอียดพอกที่ขมับ แก้อาการปวดหัวและปวดหูชั้นกลางได้ แถมยังช่วยรักษาแผลพุพอง แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย รวมทั้งเป็นยาบำรุงหัวใจได้อย่างดีเยี่ยมอีกขนานหนึ่งด้วย
  • กลิ่นหอมระเหยที่ได้จากน้ำมันดอกมะลิก็มีฤทธิ์ช่วยให้ผ่อนคลาย ต้านการซึมเศร้า ลดการหวาดกลัว ลดอาการปวด ช่วยกระตุ้นน้ำนม แก้ปวดประจำเดือน ทำให้ฮอร์โมนสมดุลและช่วยลดการหายใจติดขัด นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงผิวแห้งและผิวแพ้ง่าย หากนำไปผสมกับพืชชนิดอื่นๆ ก็ช่วยให้ผิวมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ทั้งนี้ พืชในตระกูลมะลิมีหลากหลายสายพันธุ์ด้วยกัน สำหรับในประเทศไทยเองมีทั้งพันธุ์พื้นเมืองของไทย และพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีทั้งต้นแบบเลื้อยและเป็นพุ่มรอเลื้อย รวมถึงสีของกลีบดอกมะลิที่ไม่ได้มีเพียงแค่สีขาวเท่านั้นแต่ยังมีสีเหลืองด้วย บางสายพันธุ์มีกลิ่นหอมและบางพันธุ์ก็ไม่มีกลิ่นหอม

อ้างอิงข้อมูล: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช