เปรียบเทียบอาการ 3 โรค แบบไหนใช่มะเร็งปอด ต้องสังเกตอย่างไร




รู้หรือไม่ว่า “มะเร็งปอด” คือโรคที่คร่าชีวิตคนไทยทั้งเพศชายและเพศหญิงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ อย่างเช่นล่าสุด เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 20 ก.พ. 2565 ศิลปินอาวุโสของไทย อาต้อย เศรษฐา ศิระฉายา ก็จากไปด้วยโรคมะเร็งปอด

ความน่ากลัวคือส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ กว่าที่ผู้ป่วยจะรู้ตัวก็อยู่ในระยะลุกลามแล้ว นอกจากนี้ยังมีอาการของโรคปอดชนิดอื่นๆ เช่น วัณโรคปอด ปอดอักเสบ ที่ใกล้เคียงกับมะเร็งปอดด้วย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่พบนี้ใช่มะเร็งปอดหรือไม่ เรารวบรวมมาให้แล้ว

อาการมะเร็งปอด

แม้ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดกว่า 70% จะไม่ค่อยแสดงอาการในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อมะเร็งเริ่มลุกลาม เราสามารถสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของโรคมะเร็งปอดได้ดังนี้

  • ไอเรื้อรังนาน 2 สัปดาห์
  • ไอเป็นเลือด
  • มีเสมหะปนเลือด
  • เจ็บหน้าอกตลอดเวลา
  • น้ำหนักลด
  • เหนื่อยง่าย
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน
  • หายใจสั้นและมีเสียงหวีด
  • บางรายอาจมีไข้ต่ำๆ หรือมีปอดติดเชื้อง่าย

หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันโรคมะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ด้วยการหมั่นตรวจเช็กสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่อง

อาการไอเป็นเลือด พบได้ในมะเร็งปอดและวัณโรคปอด

อาการวัณโรคปอด

วัณโรคปอด เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไมโครแบคทีเรียทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) สามารถก่อให้เกิดโรคได้กับทุกอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย และสามารถทนอยู่ในอากาศและสิ่งแวดล้อมได้นาน ติดต่อโดยการหายใจ ไอ จาม หากร่างกายอ่อนแอ เชื้อก็จะกำเริบก่อให้เกิดโรคได้ โดยอาการบางส่วนจะมีความคล้ายกับโรคมะเร็งปอด ดังนี้

  • ไอเรื้อรังนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป
  • น้ำหนักลด
  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลีย
  • มีไข้ในช่วงบ่าย เย็น หรือตอนกลางคืน
  • ไอมีเลือดปน
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจขัด

หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ร่วมกันอย่างน้อย 2 อาการขึ้นไป ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา ซึ่งวัณโรคปอดสามารถรักษาให้หายได้ แต่ถ้าไม่ทำการรักษาอย่างเร่งด่วนก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

อาการปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือปอดบวม ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด โดยเชื้อโรคที่เข้าสู่ปอดและทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา เชื้อที่พบจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดโรค เช่น ได้รับเชื้อจากที่ชุมชนทั่วไป หรือจากภายในโรงพยาบาล

ส่วนปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จะมาจากการหายใจเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมีที่ระเหยได้ นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด และยาสำหรับควบคุมการเต้นของหัวใจบางชนิดก็อาจทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้เช่นกัน

โดยอาการของโรคปอดอักเสบมีดังนี้

  • ไอมีเสมหะ
  • เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ
  • หายใจเร็ว หายใจหอบ หายใจลำบาก
  • มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
  • อ่อนเพลีย
  • ผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม ความรู้สึกสับสน อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
  • เด็กเล็กอาจมีอาการท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ

ภาพกราฟิกโดย Chonticha Pinijrob

หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กและทำการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นและทำให้หายขาดได้อย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงคือกลุ่มผู้สูงวัย อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบเพื่อเป็นทางเลือกในการป้องกันแล้ว แต่ต้องทำการตรวจเพื่อให้แพทย์พิจารณาก่อนเข้ารับวัคซีน

ที่มา: กรมการแพทย์, กรมควบคุมโรค