อันตรายจากพลาสติกใส่อาหาร เมื่อ Food Delivery เป็นที่นิยมช่วงโควิด




โควิด-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมโลก แม้แต่เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวันอย่างเรื่องอาหาร ก็มีความกังวลใจเมื่อเราต้องสั่งอาหารผ่านแอปฯ หรือหน้าร้านแบบสั่งกลับบ้านแล้วมีค่ากล่องพลาสติกใส่อาหารเพิ่มขึ้นมา ผู้บริโภคส่วนหนึ่งกังวลใจว่าพลาสติกโดนความร้อนแล้วหด จะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่

โชคดีที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจอันตรายจากพลาสติกใส่อาหาร จากอดีตที่นิยมใช้โฟม ปัจจุบันมีการเปลี่ยนมาใช้พลาสติก BPA Free และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบพลาสติกใส่อาหารมากขึ้น

กล่องโฟม กับ กล่องพลาสติก อันตรายต่อร่างกายอย่างไร

กล่องโฟมใส่อาหารเมื่อโดนความร้อน

ในยุคที่กล่องโฟมใส่อาหารเป็นที่นิยม ก็มีการศึกษาอันตรายของสารที่อาจเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ซึ่งก็คือโพลิเมอร์ชื่อว่า โพลีสไตรีน (Polystyrene) เมื่อพลาสติกโดนความร้อนจะเกิดปฏิกิริยาให้สารเคมีนี้เข้าสู่อาหาร มีผลเสียต่อร่างกายดังนี้

  • มีผลต่อระบบประสาท เม็ดเลือดแดง ตับ และไต
  • เมื่อถูกผิวหนัง เข้าตา หรือสูดดม ก็จะระคายเคือง ไอ หายใจลำบาก ปวดศีรษะ ง่วงซึม

นอกจากนี้ ยังมีสารเบนซิน (Benzene) ที่จัดเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานานๆ ก็จะทำลายกระดูก มีผลทำให้เกิดโลหิตจาง (Anemia) ทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

เมื่อมีการให้ความรู้อันตรายจากกล่องโฟม(1)ในระดับโรงเรียน และสังคมผู้บริโภคตื่นตัว ก็ทำให้ความนิยมใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารนั้นลดลง

กล่องพลาสติกใส่อาหารเมื่อโดนความร้อน

สารปนเปื้อนที่มีโอกาสติดมากับอาหารจากกล่องพลาสติกแบบใส คือ พาทาเลต (Pthalate)(2) สารเคมีตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มโพลิเมอร์อ่อนตัวได้ที่นำมาทำผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารมากที่สุด ทั้งกล่องข้าวพลาสติก, กล่องใส่อาหารแบบกลับบ้าน Take away, ขวดน้ำ แก้วน้ำ ขวดนม ของเล่นเด็ก เป็นต้น พลาสติกเหล่านี้มักมีสารพาทาเลตผสมอยู่ในเนื้อพลาสติก 40% ของน้ำหนัก

รู้จัก “พาทาเลต” สารอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อ

  • ไม่มีรายงานการเกิดอันตรายต่อมนุษย์ แต่จากการทดลองในสัตว์ด้วยความเข้มข้นสูงๆ พบว่าสร้างผลให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบประสาทส่วนกลางถูกกดทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน คลื่นไส้
  • จากการทดลองเมื่อสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงในความเข้มข้น 2% หรือ 5% จะพบว่าไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง แต่หากสัมผัสถูกดวงตา จะทำให้ระคายเคืองต่อตา ปวดตา น้ำตาไหล
  • การกลืนเข้าไปโดยตรงมีผลให้คลื่นไส้ อาเจียน แต่จากข้อมูลของศูนย์วัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์ กล่าวว่าสารนี้ไม่ก่อมะเร็ง ไม่มีผลต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ แต่มีผลทำลายไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และทางเดินอาหาร

สหภาพยุโรปจำกัดการใช้ DBP/ BBP/ DEHP ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคทุกชนิด ที่ไม่เกิน 0.1% ของน้ำหนักวัสดุที่ผสมสารพลาสติไซเซอร์ และกำหนดปริมาณการบริโภคต่อวัน (Tolerable Daily Intake) กำหนดให้รับพาทาเลต DBP, BBP, DEHP และ DINP เข้าร่างกายไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (µg/kg) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ (3)

คนกรุงเทพฯตื่นกับปัญหาพลาสติกปนเปื้อนจากกล่องใส่อาหาร Food Delivery

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยตัวเลขที่น่าสนใจของผู้บริโภคในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ใช้บริการ Food Deliver หรือซื้อกลับบ้าน ร้อยละ 22.7 ต้องการให้สำรวจความปลอดภัยจากกล่องบรรจุอาหาร และในเดือนตุลาคม 2564 ได้ดำเนินการร่วมกับห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานให้ตรวจสอบปริมาณสารพาทาเลตที่ปนเปื้อนมากับอาหาร

กล่องพลาสติกใส่อาหารแบบต่างๆ จำนวน 30 ตัวอย่าง มาจากการสุ่มสินค้าที่พบจำหน่ายทั่วไป จากห้างสรรพสินค้า, ตลาด, ร้าน 20 บาท ทั้งสินค้าที่มีแบรนด์ และไม่มีแบรนด์ เพื่อหาสารพาทาเลตทั้ง 7 ชนิด และสารบีพีเอ (BPA) ตามมาตรฐาน
EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS

ผลจากตรวจสอบพบว่ากล่องพลาสติกบรรจุอาหารทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารบีพีเอ และสารพาทาเลตที่เกินกว่าค่ามาตรฐาน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการรีไซเคิลกล่องใส่อาหารพลาสติกอาจเป็นทางออก แต่ทางออกที่ยั่งยืนที่สุดคือการลดการใช้พลาสติกใส่อาหารแบบใช้แล้วทิ้ง

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว สรุปในงานแถลงข่าวร่วมกับศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อว่า กล่องบรรจุอาหารพลาสติกเมื่อเข้าสู่กระบวนการกำจัดขยะประเภทพีวีซีนี้จะปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานสูง และต้องเพิ่มวัตถุดิบกับต้นทุนสูงเพื่อนำกลับมารีไซเคิลใช้ได้อีก ดังนั้นทางออกที่สำคัญที่สุดคือลดการใช้ภาชนะแบบใช้แล้วทิ้ง ผู้ผลิตควรตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรลงทุนต่อการวิจัยภาชนะบรรจุอาหารเพื่อความปลอดภัยต่อเด็ก ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

เรียบเรียง : สีวิกา ฉายาวรเดช

ที่มา :
(1) กล่องโฟมบรรจุอาหาร อันตรายอย่ามองข้าม, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(2) พาทาเลต (Pthalate) สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
(3) FAQ: phthalates in plastic food contact materials, European Food Safety Authority