สารกันบูดกับไข่มุกและวุ้นคาราจีแนน




ไข่มุก ท็อปปิ้งยอดฮิตของเมนูเครื่องดื่มและขนมหวานของคนไทยยุคนี้ ทั้งชานมไข่มุก กาแฟไข่มุก ชาไข่มุก หรือสารพัดเมนูเครื่องดื่มเย็น ไอศกรีม วาฟเฟิลที่นิยมทานคู่ไข่มุก

ปัจจุบัน มีไข่มุกสำเร็จรูปบรรจุภาชนะปิดสนิท ที่มีกลิ่นและรสหลากหลายให้บรรดาร้านเครื่องดื่มและขนมหวานเลือกซื้อมาใช้เป็นท็อปปิ้งให้ลูกค้าเลือก ทว่าสิ่งหนึ่งที่คอลัมน์ “มันมากับอาหาร” ขอเตือนให้ระวังคือ สารกันบูด ที่ผู้ประกอบการอาจเติมลงในไข่มุกและวุ้นคาราจีแนน เพื่อให้สามารถเก็บรักษาไว้ขายได้นานๆ ที่นิยมมี 2 ชนิด คือ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันบูดที่กฎหมายอนุญาตให้ใส่ในอาหารได้เพราะมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง กรดเบนโซอิกมีความเป็นพิษปานกลาง ส่วนกรดซอร์บิกมีความเป็นพิษต่ำ ถ้าร่างกายได้รับในปริมาณน้อยๆ จะไม่สะสมในร่างกาย แต่ถ้าเราทานอาหารที่มีสารกันบูดเป็นประจำจะส่งผลให้ร่างกายขับออกไม่ทันจนอาจสะสมและตกค้างในร่างกาย ยิ่งถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากจะทำให้มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง หรืออาจส่งผลถึงขั้นพิการได้ สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างไข่มุกและวุ้นคาราจีแนนจาก 5 ยี่ห้อ จำนวน 5 ตัวอย่าง ที่วางขายในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์สารกันบูด 2 ชนิดคือ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า

พบกรดเบนโซอิกในไข่มุกและวุ้นคาราจีแนน 4 ตัวอย่าง ซึ่งมีอยู่ 2 ตัวอย่าง ที่พบปริมาณสูงมาก ส่วนกรดซอร์บิกพบใน 4 ตัวอย่าง และมีอยู่ 1 ตัวอย่างที่พบปริมาณสูงมากเช่นกัน เห็นอย่างนี้แล้ว ขอเตือนว่าท่านที่ชื่นชอบไข่มุกทานกันได้ แต่อย่าทานบ่อยมากนักเพื่อความปลอดภัยของตับ ไตและร่างกายในระยะยาว.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย