สรุปเปรียบเทียบสายพันธุ์โอมิครอน จากตัวแม่มาถึง BA.1 BA.2 BA.2.2 และลูกผสม XE กับ XJ




จัดว่าเป็นเชื้อไวรัสโควิดที่กลายพันธุ์เร็วและแพร่กระจายมากที่สุดก็ว่าได้สำหรับโควิดโอมิครอน ที่ตอนนี้แตกออกเป็น 5 สายพันธุ์แล้ว แต่ละสายพันธุ์มีอาการและความรุนแรงเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร ประชาชนต้องเฝ้าระวังอย่างไรบ้าง เรารวมข้อมูลมาให้แล้ว

โอมิครอน สายพันธุ์ BA.1

ค้นพบครั้งแรกที่ทวีปแอฟริกาใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2564 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในระดับน่ากังวล มีรหัสไวรัสคือ BA.1 ปัจจุบันมีการระบาดลามไปในหลายประเทศทั่วโลกแล้วและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะสามารถแพร่เชื้อและเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เบตา และเดลตา รวมทั้งยังมีแนวโน้มต้านประสิทธิภาพวัคซีนอีกด้วย คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำได้จากโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2

ค้นพบเมื่อเดือนมกราคม 2565 ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 แม้จะแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ BA.1 แต่ไม่พบความรุนแรงที่แตกต่าง หรือมากไปกว่าสายพันธุ์ BA.1 แต่อย่างใด

สิ่งที่น่ากังวลก็คือโอมิครอน สายพันธุ์ BA.2 แพร่เชื้อได้มากกว่าโอมิครอนตัวแม่ถึง 30% และยังหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนได้ดีมากขึ้นกว่าโอมิครอนตัวแม่ จนเป็นที่มาของฉายา ‘โอมิครอนล่องหน’ ทำให้ขณะนี้ โอมิครอน BA.2 กลายเป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์หลักที่ครองโลก พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดเกือบ 86% ของผู้ติดโควิด-19 ทั้งหมดทั่วโลก

โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2.2

ค้นพบเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ฮ่องกง ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของโอมิครอนเดิมที่ระบาดอย่างหนักในฮ่องกงจนพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ เป็นสายพันธุ์ที่หลายคนกังวล เพราะมีผู้เสียชีวิตในฮ่องกงเพิ่มสูงขึ้น จนมีสถิติสูงสุดในโลก

แต่จากการที่พบผู้ป่วยสายพันธุ์ BA.2.2 ในไทย ไม่มีอาการรุนแรง และไม่พบผู้เสียชีวิตมากไปกว่าสายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงการแพร่เชื้อก็ไม่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง หรือหลีกหนีวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ เหตุผลที่ทำให้สายพันธุ์ BA.2.2 ในไทยไม่ระบาดหนักเหมือนที่ฮ่องกง เป็นเพราะว่ามีสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 มาจับจองพื้นที่ระบาดไปก่อนแล้วนั่นเอง

โอมิครอน สายพันธุ์ XE

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเตือนเกี่ยวกับโอมิครอนลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ XE ที่ผสมกันระหว่างโอมิครอน  BA.1+BA.2 ว่าอาจเป็นเชื้อโควิด-19 ที่แพร่กระจายรวดเร็วที่สุด โดยถูกพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ขณะนี้มีคนติดเชื้อแล้วกว่า 600 ราย ขณะที่ฮ่องกงยืนยันพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน XE แล้ว 2 ราย และพบผู้ติดเชื้อที่ไทยแล้ว 1 ราย

สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ โอมิครอนสายพันธุ์ XE พัฒนาความสามารถด้านการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์ BA.2 ถึง 10% และแพร่ได้รวดเร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (BA.1) ถึง 43% จากนี้ไปต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสายพันธุ์ลูกผสม “XE” จะกลายเป็นคลื่นระลอกใหม่ที่ระบาดไปทั่วโลก และเข้ามาแทนที่ BA.2 ได้หรือไม่

โอมิครอน สายพันธุ์ XJ

นอกจากสายพันธุ์ XE แล้ว ตอนนี้ยังมีโอมิครอน สายพันธุ์ XJ ซึ่งเป็นโควิดลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.1 และ BA.2 ซึ่งพบครั้งแรกที่ประเทศฟินแลนด์ และพบผู้ติดเชื้อในไทยแล้ว 1 ราย จุดเด่นคือมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ส่วนความสามารถในการแพร่ระบาด ความรุนแรงของอาการในสายพันธุ์ XJ เมื่อดูจากรหัสพันธุกรรมบนจีโนมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านลงความเห็นว่าไม่น่าจะแตกต่างไปจากโอมิครอน สายพันธุ์ BA.1 และ BA.2

อาการโควิดโอมิครอนทั่วไป เป็นอย่างไร

โควิดโอมิครอนทั้ง 5 สายพันธุ์ที่พบนี้โดยทั่วไปแล้วมีอาการไม่ต่างกัน เว้นแต่ความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็วแตกต่างกันไป จากการเก็บข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขไทย พบว่าใน 100 คน หากติดเชื้อโควิดโอมิครอน จะแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • 54% มีอาการไอ
  • 37% มีอาการเจ็บคอ
  • 29% มีอาการมีไข้
  • 15% มีอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • 12% มีอาการมีน้ำมูก
  • 10% มีอาการปวดศีรษะ
  • 5% มีอาการหายใจลำบาก
  • 2% มีอาการได้กลิ่นลดลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาการในช่วงแรกที่ติดเชื้อจะไม่รุนแรง แต่ก็สามารถพัฒนาอาการรุนแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว ดังนั้นจึงไม่ควรชะล่าใจ ยังต้องระมัดระวังป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิดเช่นเดิม นั่นคือสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในที่แออัดหรือมีผู้คนจำนวนมาก เพราะโอมิครอนสามารถแพร่เชื้อได้ง่าย พยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน และเว้นระยะห่าง

สำหรับผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดโอมิครอนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงยังมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ถึงแม้จะไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อ แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ข้อมูลอ้างอิง: WHO, กระทรวงสาธารณะสุข, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง