รู้จัก Electroconvulsive therapy (ECT) การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า




จากกรณีที่ ยัวร์บอยทีเจ (UrboyTJ) หรือ เต๋า จิรายุทธ ผโลประการ แรปเปอร์ดัง ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก UrboyTJ ว่า กำลังเข้าสู่กระบวนการรักษาอาการซึมเศร้า ด้วยวิธี Electroconvulsive therapy (ECT) หรือการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า ทำให้คำนี้เริ่มถูกค้นหาในระบบกูเกิลเสิร์ชว่า Electroconvulsive therapy คืออะไร กันมากขึ้น

Electroconvulsive therapy หรือการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้านี้ เคยมีคำอธิบายจากคอลัมน์ศุกร์สุขภาพ โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยแพร่ในเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ ก่อนหน้านี้โดยสรุปว่า

การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า หรือ Electroconvulsive therapy คือ การรักษาทางจิตเวชวิธีหนึ่ง โดยใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองของผู้ป่วยทำให้เกิดอาการชัก เพื่อรักษาอาการทางจิตเวชให้ดีขึ้น เช่นการรักษา โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตเภท ใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือต้องการการรักษาอย่างรีบด่วนในกรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มีอาการก้าวร้าว หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย

วิธีการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า มี 2 วิธี จะใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับการประเมินของจิตแพทย์ คือ

  1. การรักษาด้วยไฟฟ้าแบบ Unmodified หมายถึง การรักษาด้วยไฟฟ้าโดยไม่ได้ใช้ยานำสลบ
  2. การรักษาด้วยไฟฟ้าแบบ Modified หมายถึง การรักษาด้วยไฟฟ้าโดยใช้ยานำสลบ

การเตรียมตัวรับการรักษาด้วยวิธี Electroconvulsive therapy

  1. ทำความสะอาดร่างกายให้สะอาด
  2. งดน้ำและงดอาหารหลังเที่ยงคืนจนกระบวนการรักษาเสร็จสิ้น
  3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมง
  4. ทำจิตใจให้สบาย
  5. สามารถกินยาจิตเวชเดิมที่เคยกินได้ตามปกติ

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการรักษาด้วยวิธีนี้ ขณะเข้ารับการรักษา คือ

อาการปวดศีรษะ มักจะไม่รุนแรง แต่จะมีอาการมากในช่วง 2 ชั่วโมงหลังการรักษา และหายภายใน 24 ชั่วโมง โดยปวดแบบปวดตุบๆ บริเวณหน้าผาก บางครั้งอาจคลื่นไส้อาเจียนด้วยซึ่งอาจเป็นผลจากอาการปวดศีรษะ หรือยาระงับความรู้สึกที่ได้รับ หากมีอาการนี้ แพทย์ก็จะให้ยาลดอาการคลื่นไส้

อาการปวดกล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการสั่นไหวของกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของยาหย่อนกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากการชักก็ได้ แพทย์จะให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อร่วมกับการให้ยาระงับปวด

การบาดเจ็บในช่องปากและฟัน เช่น เจ็บบริเวณกราม ฟันโยก การฉีกขาดของอวัยวะในช่องปาก เป็นผลมาจากการที่กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคี้ยวถูกกระตุ้น และเกิดแรงขบบริเวณกราม ซึ่งการใส่อุปกรณ์กันกัด และการจับขากรรไกรล่างของผู้ป่วยให้ปิดสนิท จะช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้

ภาวะหลงลืม อาจเกิดขึ้นได้ และค่อยๆ ฟื้นตัวภายใน 2 สัปดาห์ จนถึง 6 เดือน ทั้งนี้ญาติเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นความจำของผู้ป่วยให้กลับมาเร็วขึ้น

นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงอื่น ได้แก่ กระดูกสันหลังยุบตัว กระดูกเคลื่อน การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเอ็นกระดูก ซึ่งพบได้น้อยจากการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้าแบบใช้ยาระงับความรู้สึก

ปัจจุบัน ได้มีการนำการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้ามาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น