รู้จัก “เชื้อ EV 71” ในโรคมือเท้าปาก อันตรายถึงชีวิต ป้องกันได้อย่างไร




โรคมือเท้าปาก คือหนึ่งในโรคสำคัญที่มักระบาดในหน้าฝนโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กโต แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังมากขึ้นในปีนี้คือ “เชื้อ EV 71” หรือ Enterovirus 71 (เอนเทอโรไวรัส 71) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนถึงแก่ชีวิตได้ เรามาทำความรู้จักเชื้อ EV 71 นี้ให้มากขึ้น เพื่อการป้องกันและรับมือได้ทันท่วงที

โรคมือเท้าปาก EV 71 คืออะไร

โรคมือเท้าปาก ที่พบบ่อยในประเทศไทยมักมาจากเชื้อไวรัสค็อกซากี (Coxsackie) ชนิดเอ 16 พบในเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่การระบาดของเชื้อโรคมือเท้าปากครั้งนี้มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71 หรือ EV 71) มักพบในเด็กกลุ่มอายุน้อยกว่า 2 ปี เมื่อได้รับเชื้อจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการโรคมือเท้าปาก EV 71

สำหรับผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก EV 71 จะมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้สูง
  • อาเจียนมาก
  • หายใจหอบ
  • มีภาวะขาดน้ำ
  • ความดันโลหิตต่ำจนช็อก
  • หากมีภาวะสมองอักเสบร่วมด้วย จะมีอาการชักเกร็ง ซึม และเสียชีวิตได้

อาการโรคมือเท้าปากทั่วไป

อาการของโรคมือเท้าปากทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อ EV 71 โดยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง มักเกิดขึ้นประมาณ 2-3 วันและดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งมักจะแสดงอาการ เช่น

  • มีไข้
  • เจ็บปาก
  • น้ำลายไหล
  • กินอาหารได้น้อย
  • มีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก
  • มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ
  • อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขา

ดังนั้น หากพบว่ามีอาการของโรคมือเท้าปากทั่วไป ก็ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดว่ามีอาการโรคมือเท้าปาก EV 71 ร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อให้มีการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

โรคมือเท้าปาก ติดต่ออย่างไร

โรคมือเท้าปาก มักพบการระบาดในโรงเรียน ชั้นอนุบาลเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก มีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ และสามารถติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ โดยเชื้อไวรัสก่อโรคมือเท้าปาก สามารถแพร่ผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ และติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย ตลอดจนการติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือของผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคชนิดนี้

วิธีป้องกันโรคมือเท้าปาก

เนื่องจากโรคมือเท้าปากเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถป้องกันและดูแลตัวเองได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่ ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงพี่เลี้ยงเด็ก ต้องมีหน้าที่ช่วยดูแลและป้องกันดังต่อไปนี้

  1. ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะพี่เลี้ยงเด็กต้องดูแลสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่สัมผัสผ้าอ้อม ไม่ใช้ช้อนป้อนอาหารเด็กร่วมกัน
  2. หมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ของเล่นเด็กด้วยน้ำยาที่สามารถฆ่าเชื้อได้
  3. สภาวะแวดล้อมในห้องเด็กควรเป็นห้องโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี
  4. หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า
  5. เด็กที่ป่วยจะต้องแจ้งทางโรงเรียน และหยุดเรียนจนกว่าแผลจะหาย โดยปกติประมาณ 1 สัปดาห์

อ้างอิงข้อมูล: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย