รู้จักโรคไบโพลาร์ มีอาการเป็นอย่างไร พร้อมสาเหตุและการรักษา




ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินชื่อโรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว อยู่บ่อยๆ และมักจะเข้าใจผิดว่าอาการอารมณ์ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวอารมณ์ดี อีกสักพักก็เปลี่ยนเป็นอารมณ์ร้าย นั้นคืออาการของผู้ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ แต่ความจริงแล้วอาการของโรคไบโพลาร์เป็นอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร และรักษาได้หรือไม่ เรารวมข้อมูลมาให้แล้ว

โรคไบโพลาร์คืออะไร

โรคไบโพลาร์ จัดเป็นโรคในกลุ่มจิตเวช ที่เกี่ยวข้องกับด้านอารมณ์ สามารถพบได้สูงถึง 1.5-5% ของจำนวนประชากร มักพบได้บ่อยในช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมาคืออายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี และยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้สูงถึง 70-90% เลยทีเดียว

ผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอารมณ์แปรปรวนสลับกันระหว่างอารมณ์ดี หรือก้าวร้าวผิดปกติ กับอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ โดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ใดๆ ทั้งนี้อาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายๆ เดือนก็ได้ จึงต่างกับความเข้าใจผิดที่หลายคนคิดว่าอาการอารมณ์แปรปรวนที่เปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็วนั้นคืออาการของโรคไบโพลาร์ ที่สำคัญอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และการดูแลตัวเองเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

อาการของโรคไบโพลาร์

อารมณ์ดีผิดปกติ

  • ร่าเริงผิดปกติ
  • ไม่หลับไม่นอน
  • พูดมาก พูดเร็ว
  • ใครขัดใจจะหงุดหงิด
  • เชื่อมั่นในตัวเองสูง
  • ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
  • มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มมากขึ้น

อารมณ์เศร้าผิดปกติ

  • เศร้า หดหู่
  • ไม่อยากพบใคร
  • ไม่อยากทำอะไร
  • คิดช้า ไม่มีสมาธิ
  • คิดลบ
  • คิดว่าตัวเองไร้ค่า
  • คิดฆ่าตัวตาย

ภาพกราฟิกโดย Pradit Phulsarikij

สาเหตุของโรคไบโพลาร์ และแนวทางการรักษา

ปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุของโรคไบโพลาร์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ปัจจัย คือ

1. ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ความผิดปกติของระบบฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย, การนอนหลับที่ผิดปกติ, ความผิดปกติของการทำงานในส่วนต่างๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์

2. ปัจจัยทางสังคม เช่น การไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเครียด หรือปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ขึ้นมาได้เช่นกัน ทั้งนี้ปัจจัยทางสังคมไม่ใช่สาเหตุของโรค แต่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้โรคแสดงอาการได้

3. ปัจจัยทางพันธุศาสตร์ ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบรูปแบบของการถ่ายทอดผ่านยีนที่ชัดเจนของโรคไบโพลาร์ แต่จากการศึกษาพบว่าสามารถพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นไบโพลาร์มากกว่าในประชากรทั่วไปที่ครอบครัวไม่มีประวัติด้านนี้

สำหรับแนวทางการรักษาโรคไบโพลาร์อาจต้องใช้ทั้งยาและการบำบัดทางจิตใจควบคู่กัน

  • การรักษาด้วยยาทางจิตเวช เพื่อปรับสารสื่อประสาทและควบคุมอารณ์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการผิดปกติ และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมภายในเวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์
  • การรักษาด้วยจิตบำบัด ผู้ป่วยไบโพลาร์บางรายอาจจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยจิตบำบัดร่วมกับการใช้ยาเพื่อจัดการกับภาวะเครียดได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยลดความขัดแย้งกับคนรอบข้างที่เป็นสาเหตุของความเครียดลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไบโพลาร์ไม่ควรหยุดทานยาเอง และควรทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปีสำหรับผู้ที่เป็นครั้งแรก เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งระยะเวลาที่ทานยาอาจนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่เคยเป็น และความรุนแรงของอาการในการรักษา

นอกจากนี้ญาติและบุคคลใกล้ชิดควรทำความเข้าใจอาการ และให้กำลังใจผู้ป่วยอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติ

ทั้งนี้วันที่ 30 มีนาคม ของทุกปีคือ “วันไบโพลาร์โลก” (World bipolar day) ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาที่ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ต้องพบเจอ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนทั่วไปว่าอาการของโรคนี้เป็นอย่างไร และช่วยกันลดความเข้าใจหรือความเชื่อผิดๆ ที่สร้างแผลทางใจต่อผู้ป่วยโรคไบโพลาร์

อ้างอิงข้อมูล: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข