รู้จักภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) ที่บรูซ วิลลิส ป่วย เกิดจากอะไร รักษาได้ไหม




นับว่าเป็นข่าวช็อกสำหรับแฟนๆ ของดาราฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง บรูซ วิลลิส ที่ป่วยด้วยภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) จนส่งผลให้ไม่สามารถทำงานในวงการบันเทิงต่อไปได้ ซึ่งภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) มีสาเหตุมาจากอะไร สามารถรักษาได้หรือไม่ เรามีคำตอบมาให้แล้ว

ภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) มีสาเหตุจากอะไร

เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งมักเป็นผลมาจากสมองได้รับความเสียหายจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะรวมถึงการผ่าตัดสมอง ในบางรายอาจจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยสาเหตุอาจมาจากเนื้องอก การติดเชื้อในสมอง โรคทางระบบประสาท หรือภาวะเสื่อมถอยของสมองอย่างโรคสมองเสื่อม

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนมากแล้วภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกมากที่สุด ส่วนภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) แบบชั่วคราวมักมีสาเหตุมาจากอาการไมเกรน อาการชัก หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว ซึ่งเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ในอนาคต

จากสาเหตุดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยเสียความสามารถในการพูด หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด หรือมีปัญหาทั้ง 2 อย่างรวมกัน อาจมีความบกพร่องในการเขียน การอ่าน การวาดรูป การคำนวณร่วมด้วย เพราะมาจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมด้านภาษา

ภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) มีหลายระดับ ระดับรุนแรงน้อย จะสามารถพูดสื่อสารเรื่องทั่วๆ ไปได้ แต่นึกคำบางคำไม่ออก แต่ถ้าเป็นระดับรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูดและไม่สามารถพูดสื่อสารได้ อย่างไรก็ตามภาวะนี้ไม่เกี่ยวข้องกับระดับสติปัญญา ผู้ป่วยยังคงมีระดับสติปัญญาคงเดิม

อาการของภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) เป็นอย่างไร

ภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) ในแต่ละคนจะมีอาการที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริเวณและความรุนแรงที่สมองได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อการพูด การทำความเข้าใจ การอ่าน การเขียน การสื่อสารและการรับสาร เช่น พูดได้แค่ประโยคสั้นๆ หรือพูดไม่จบประโยค ไม่สามารถเรียบเรียงประโยคในการพูดหรือการเขียนให้ผู้ฟังเข้าใจได้ ใช้คำไม่เหมาะสม เลือกใช้คำหนึ่งแทนที่อีกคำ พูดคำที่ไม่มีความหมาย หรือไม่เข้าใจในบทสนทนาของผู้อื่น เช่น

1. ภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) แบบที่สื่อสารได้

อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะสามารถพูดได้ปกติ แต่ไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูด ไม่สามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง อาจพูดประโยคยาวๆ หรือประโยคที่ซับซ้อนติดต่อกันโดยไม่มีความหมาย ใช้คำที่ไร้สาระ คำฟุ่มเฟือย หรือใช้คำไม่ถูก และไม่ทราบว่าผู้อื่นไม่เข้าใจ

2. ภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) แบบที่ไม่สามารถสื่อสารได้

ผู้ป่วยที่มีอาการในภาวะนี้จะมีปัญหาด้านการสื่อสารโดยเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ดีกว่าการพูดสื่อสารออกไป ผู้ป่วยจะสื่อสารได้แค่ประโยคสั้นๆ พูดไม่จบประโยคหรืออาจลืมคำบางคำ และไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ทั้งหมด มักจะรู้สึกผิดหวังหรือไม่พอใจหากผู้อื่นไม่เข้าใจสิ่งที่ตนเองต้องการจะสื่อ อาจพบอาการอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตในซีกขวาร่วมด้วย

ภาพกราฟิกโดย Jutaphun Sooksamphun

3. ภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) แบบ Conduction

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความเข้าใจและสามารถใช้ภาษาได้ดีทั้งการพูดและการเขียน พูดได้คล่อง แต่ไม่สามารถพูดตามได้หรือหากพูดตามจะพูดผิด

4. ภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) แบบ Global

ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะเกิดจากสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหายทั้งส่วนหน้าและส่วนกลาง จึงทำให้ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาทั้งการสื่อสารและการรับสาร ไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ มีอาการของภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้และไม่ได้รวมกัน

ภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) รักษาได้หรือไม่

สำหรับวิธีการรักษาผู้ป่วยภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) จะใช้การบำบัดทางการพูดและภาษาเป็นหลัก เพื่อฟื้นฟูความสามารถด้านการใช้ภาษาและเสริมทักษะการสื่อสาร โดยผู้ป่วยจะได้รับการประเมินสุขภาพทั่วไป ระดับความผิดปกติของการใช้ภาษา และทักษะทางสังคมก่อนเข้ารับการบำบัดจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

ข่าวดีก็คือหลังจากเข้ารับการบำบัดแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีอาการดีขึ้นหากได้รับการบำบัดติดต่อกันสม่ำเสมอ แต่บางรายที่มีการบาดเจ็บทางสมองรุนแรงมากก็อาจจะต้องใช้เวลาบำบัดนานขึ้น ส่วนการใช้ยารักษาภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) กำลังอยู่ในช่วงศึกษาและทดลอง เพื่อมาช่วยฟื้นฟูการทำงานของสมอง

ในส่วนของญาติหรือบุคคลใกล้ชิดผู้ป่วยภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) ควรสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยประโยคสั้นๆ ช้าๆ ไม่ซับซ้อน ในบรรยากาศที่เงียบสงบ พร้อมใช้ภาษาท่าทางประกอบ และควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยพยายามสื่อสารบ่อยๆ เพื่อช่วยบำบัดให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และควรทำความเข้าใจอาการที่ผู้ป่วยประสบอยู่ ไม่ควรใช้อารมณ์หรือกดดันให้ผู้ป่วยรู้สึกท้อแท้และเครียดกับภาวะที่ตนเองประสบอยู่มากไปกว่าเดิม

อ้างอิงข้อมูล: ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล