รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์นักบิน




พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการทหาร หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยดันทรูน โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมการบินและอากาศยาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความสนพระราชหฤทัย และทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านวิศวกรรมการบินและอากาศยาน โดยทรงสนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์

เมื่อ พ.ศ. 2522 รัชกาลที่ 10 ขณะทรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพอากาศจัดถวายการฝึกบินตามหลักสูตรโรงเรียนการบินของกองทัพอากาศ โดยทรงเริ่มทำการบินตามหลักสูตร การฝึกบินกับเครื่องบินปีกหมุนหรือเฮลิคอปเตอร์

วันที่ 20 ธ.ค. 2522 ทรงทำการบินกับเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H จำนวน 54.4 ชั่วโมงบิน และเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1N จำนวน 134.8 ชั่วโมงบิน และทรงสำเร็จตามหลักสูตร เมื่อวันที่ 23 ก.ค. พศ. 2523

เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.1 UH-1H นับเป็นอากาศยานปีกหมุนกำลังหลักของกองทัพบกไทย ตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งกิจการบินทหารบกยุคใหม่ ซึ่งในส่วนกองพันบินที่ 1 หรือนามหน่วยเดิม คือ กองบินปีกหมุนที่ 1 (1st AirMobile Company) ได้นำเข้าประจำการในปี พ.ศ. 2511 โดยสหรัฐฯ ได้มอบเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.1 เบลล์ UH-1 Iroquois ตามโครงการความช่วยเหลือทางทหารแก่กองทัพไทยชุดแรก จำนวน 25 เครื่อง ในปีที่จัดตั้งโรงเรียนการบินทหารบก (Army Aviation School) พ.ศ. 2510 (1967)

เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2523 ในระหว่างติดตามสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา พระองค์ทรงเข้ารับการฝึกและศึกษาตามโครงการของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ทรงรับการฝึกบิน เฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H ของกองทัพบกสหรัฐ ณ Fort Bragg รัฐ North Carolina สหรัฐอเมริกา

ทรงรับพระราชทานประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินของกองทัพอากาศ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชบิดา เมื่อวันพฤหัสบดี 21 ส.ค.2523 ณ โรงเรียนนายเรืออากาศ

11 ธันวาคม 2523 ทรงฝึกบินเครื่อง Marchetti ณ ฝูงฝึกขั้นปลาย ณ โรงเรียนการบิน ทรงสำเร็จตามหลักสูตรเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2524

เครื่องบินฝึกแบบ SF-260 ผลิตโดย บริษัท SIAI-Marchetti ประเทศอิตาลี จำนวน 11 เครื่อง กำหนดชื่อเรียกว่า “เครื่องบินฝึกแบบที่ 15” (จัดซื้อเมื่อปี 2516) และเครื่องบินฝึกแบบ CT-4A ผลิตโดยบริษัท Pacific Aerospace Corporation ประเทศนิวซีแลนด์ จำนวน 19 เครื่อง
(จัดซื้อเมื่อปี 2517) กำหนดชื่อว่า “เครื่องบินฝึกแบบที่ 16” (ในปีเดียวกันนี้ซื้อ บ.ฝ.16 เพิ่มอีก 5 เครื่อง รวมเป็น 24 เครื่อง) เพื่อใช้ฝึกบินนักบินใหม่

3 มีนาคม 2524 ทรงฝึกบินกับเครื่องไอพ่นแบบ T-37 ณ ฝูงฝึกขั้นปลาย โรงเรียนการบิน ทรงสำเร็จตามหลักสูตรเมื่อ 10 กรกฎาคม 2524

T-37 B (Tweet หรือ Tweety Bird) เป็นหนึ่งในความช่วยเหลือทางทหารตามโครงการ MAP ของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศไทย โดยได้รับมาเมื่อเดือน ส.ค.04 และได้รับการกำหนดชื่อว่า บ.ฝ.12 (เครื่องบินฝึกแบบที่ 12) ซึ่งภายหลังจากการตรวจรับและเข้าประจำการไปเมื่อเดือน ก.ย.04 แล้ว ภายหลังจึงได้จัดให้มีพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 มี.ค.05 พร้อมๆ กับ บ.ข.17 (F-86F Sabre) อีกจำนวน 20 เครื่อง ของฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 12 กองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง

บ.ฝ.12 จำนวน 8 เครื่องนี้ถือว่าเป็น เครื่องบินฝึกไอพ่นสำหรับศิษย์การบินแบบแรกของ ทอ. ก็ว่าได้ เนื่องจาก บ.ฝ.11 หรือ T-33 ของฝูงบินที่ 10 (11) กองบินน้อยที่ 1 ที่ได้รับมาก่อนหน้าในปี 2498 นั้น ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อฝึกบินให้กับศิษย์การบินของ รร.การบิน แต่มีภารกิจในการฝึกเปลี่ยนแบบสู่ บ.ไอพ่น (Jet Transition) สำหรับนักบินขับไล่ที่เคยทำการบินกับ บ.ขับไล่ใบพัดก่อนที่จะเปลี่ยนแบบไปทำการบินกับ บ.ขับไล่ไอพ่น บ.ฝ.12 ทั้ง 8 เครื่อง ได้รับการบรรจุในฝูงฝึกขั้นปลาย รร.การบิน โคราช เพื่อใช้ฝึกบินศิษย์การบินชั้นมัธยม เป็นจำนวนประมาณ 115 ชั่วโมง ก่อนที่จะสำเร็จไปเป็นนักบินประจำกองเพื่อทำการบินกับ บ.ไอพ่น ในฝูงบินรบต่อไป ซึ่งศิษย์การบินรุ่นแรกที่ได้ทำการฝึกบินกับ บ.ฝ.12 คือ รุ่น น.28 – 05 – 1 โดยในการฝึกบินจะประกอบไปด้วย การบินเกาะภูมิประเทศ การบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน การบินเดินทาง การบินหมู่ การบินกลางคืน และการบินด้วยเครื่องฝึกบินจำลอง

ต่อมาทรงฝึกบินหลักสูตรนักบินพร้อมรบขั้นพื้นฐาน (ไอพ่น) T-33 ณ กองบิน 1 ฝูงบิน 101 ทรงสำเร็จตามหลักสูตรเมื่อ 19 มีนาคม 2525

ในปี 2498 ทอ.ไทย ได้รับ บ.ฝึกไอพ่น และ บ.ตรวจการณ์ไอพ่นแบบแรกคือ T-33 และ RT-33 ซึ่งถือว่าเป็น บ.ไอพ่นแบบแรกสุดของ ทอ.ไทย แต่ว่ามันก็ยังไม่ใช่ เครื่องบินรบเต็มรูปแบบที่จะใช้เป็นหลักในการป้องกันภัยทางอากาศสำหรับประเทศไทย ซึ่งจุดประสงค์ในการที่สหรัฐฯ มอบ บ.ฝึกไอพ่นมาให้ก่อนนั้น ก็เพื่อเป็นการเตรียมพื้นฐานของนักบินและเจ้าหน้าที่ของไทยให้มีความรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานกับ บ.ไอพ่น ก่อนที่จะได้ปฏิบัติงานกับ บ.ขับไล่ไอพ่นที่จะมอบให้ในเวลาต่อมา และหลังจากจากนั้นในปลายเดือน พ.ย.2499 นักบินของ ทอ.สหรัฐฯ ก็ได้นำหมู่บิน บ.ขับไล่ทิ้งระเบิดแบบ F-84G Thunderjet ชุดแรกจำนวน 4 เครื่อง (ในจำนวน 6 เครื่องแรก) มาลงจอดที่กองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง และถัดจากนั้นมาอีก 13 วัน ก็ได้รับ บ.ชุดที่ 2 อีกจำนวน 7 เครื่อง และเมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจรับแล้ว บ.ทั้ง 13 เครื่องนั้นก็ได้ถูกกำหนดชื่อให้เป็นเครื่องบินขับไล่แบบที่ 16 หรือ บ.ข.16 และได้นำไปบรรจุเข้าประจำการใน ฝูงบินขับไล่ทิ้งระเบิดที่ 12 กองบินน้อยที่ 1 ทดแทน บ.ข.15 (F8F-1/1B Bearcat ที่ได้โอนไปให้ กองบินน้อยที่ 2 ใช้งานต่อในช่วงก่อนหน้านี้) ซึ่งในการบินมาส่งมอบนั้น บ.ทั้งหมดก็ยังติดเครื่องหมายของ ทอ.สหรัฐฯ อยู่ แต่ในส่วนของ ทอ. นั้นไม่ได้มีการบันทึกว่า บ. ชุดแรกทั้ง 4 เครื่องนั้น บินมาจากฐานทัพอากาศสหรัฐฯในประเทศใด ซึ่งจะเป็นในประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่ที่น่าสังเกตคือในจำนวนที่รับมาทั้ง 2 ชุดนี้ มี บ.หลายเครื่องนั้นได้เคยประจำการอยู่ในกองทัพอากาศของกลุ่มประเทศนาโต้ อย่างเช่น อิตาลี เบลเยียม และฝรั่งเศส มาก่อน และภายหลังสหรัฐฯ จึงนำ บ.เหล่านี้มามอบให้ ทอ.ไทย ใช้งานต่อ

เมษายน-ตุลาคม 2525 ทรงฝึกบินหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูง F-5E/F ณ กองบิน 1 ฝูงบิน 102

เครื่องบินขับไล่แบบ F 5 คืออากาศยานไอพ่นความเร็วเหนือเสียงในรูปแบบเครื่องบินรบที่เข้าประจำการในกองทัพอากาศ จากโครงการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐอเมริกา โดยมอบให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา ในช่วงปี พ.ศ.2509 เพื่อทำการป้องกันและเข้าต่อตีกับเครื่องบินรบของค่ายคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยเริ่มต้นรับมอบเครื่องบิน F 5B (รหัส B ต่อท้ายจะเป็นเครื่องสองที่นั่ง) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2509 และปี 2510 กองทัพอากาศไทยได้รับมอบเครื่อง F 5 A จำนวน 8 เครื่อง ตามมาด้วยปี 2513 ได้รับเครื่องบิน RF 5 A จำนวน 4 เครื่อง เพื่อใช้ในการปฏิบัติการถ่ายภาพทางอากาศ ปี พ.ศ.2517 ก็ได้รับ F 5 A เพิ่มเติมจากสหรัฐอเมริกาอีกเป็นจำนวน 5 เครื่อง หนึ่งปีหลังจากนั้น นักบินของกองทัพอากาศเวียดนามใต้นำเครื่อง F 5 A บินลัดเลาะลี้ภัยมาขอลงจอดที่สนามบินตาคลี จังหวัดนครสวรรค์อีก 1 เครื่อง

F 5 A และ B ที่กองทัพอากาศของอเมริกันให้ความช่วยเหลือทางการทหาร เริ่มเข้าประจำการในฝูงบิน 13 กองบินที่ 1 ดอนเมือง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2509 และขึ้นทำการบินครั้งแรกเมื่อวันที่20 เมษายน 2509 ใช้นามเรียกขานว่า ไลท์นิ่ง (Lightning) ปี 2519 กองทัพอากาศได้ย้ายฝูงบิน F 5 A/B จากฝูงบิน 13 กองบินที่ 1 ไปยังฝูงบิน 103 กองบินที่ 1 จังหวัดนครราชสีมา ใช้นามเรียกขานคงเดิม และในปี 2525 กองทัพอากาศได้ทำการจัดซื้อเครื่องบิน F 5 B แบบสองที่นั่งจากมาเลเซียเพื่อใช้ในการฝึกนักบินและเข้าร่วมอยู่ในฝูงบิน 103 ต่อมาในปี 2530 กองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อเครื่อง F 5 B สองที่นั่งอีก 2 เครื่องจากสหรัฐอเมริกา และรับโอนเครื่อง F 5 E อีกจำนวน 5 ลำเข้าไปประจำการในฝูงบิน 231 อุดรธานีในระหว่างปี 2529-2541

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2525-กันยายน 2526 เสด็จไปฝึกบินหลักสูตรการบินขับไล่พื้นฐาน และหลักสูตรการบินขับไล่ขั้นสูงแบบ F-5E/F ณ William Air Force Base รัฐ Arizona ในวันที่ 22 กันยายน 2526 ที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรการบินขับไล่ทางยุทธวิธีขั้นสูงของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ผู้บังคับฝูงเครื่องบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่ 425 เทิดพระเกียรติในบันทึกว่า “นาวาอากาศโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในระหว่างการศึกษาว่า ทรงมีความมั่นพระราชหฤทัยที่จะทรงนำในการออกปฏิบัติภารกิจการรบทางอากาศ ทรงมีความกล้าหาญที่จะทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่ยากเย็นได้ภายในเสี้ยววินาที อีกทั้งยังมีพระปรีชาสามารถในการเลือกแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกันประเทศชาติของพระองค์”

ในการเป็นนักบินขับไล่ พระองค์ทรงต้องรับการตรวจพระวรกายจากคณะแพทย์ และจะต้องผ่านการทดสอบต่างๆ ตามเกณฑ์จากคณะกรรมการของกองทัพอากาศอย่างสม่ำเสมอ การเป็นนักบินไอพ่นทำการรบ เป็นการปฏิบัติงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเสี่ยงอันตราย สมเด็จพระบรมฯ ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแกร่งตามเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว พระองค์ทรงฝึกบินหลักสูตรการบินรบขั้นสูง (Advance Fighter Course) และทรงฝึกบินทบทวนหลักสูตรต่างๆ ของ F-5E/F ที่กองบิน 1 ฝูง 102 จนจบหลักสูตร

ในวันที่ 29 ธันวาคม 2526 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ซึ่งพระองค์ทรงทำการบินเครื่องบินขับไล่ F-5E เข้าแข่งขันด้วย

30 ตุลาคม 2528 ในระหว่างการฝึกรหัส Commando West-9 พระองค์ทรงทดลองบินเครื่อง F-15 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

พ.ศ. 2529 ทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศและทรงชนะเลิศการใช้อาวุธทางอากาศประเภทปืนกลอากาศ ประเภทบุคคล ทรงชนะเลิศการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศในการแข่งขันเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2530

พลอากาศเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงทำการบินทบทวนหลักสูตรต่างๆ ของเครื่องบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูง F-5E/F อย่างสม่ำเสมอตามขั้นตอนและตามวัฏภาค จนทรงพร้อมรบและทำการบินครบ 1,000 ชั่วโมง เมื่อ 17 เมษายน 2532

ทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศประจำปี ทรงใช้อาวุธทางอากาศ ทำคะแนนสูงตามกติกา ซึ่งกองทัพอากาศได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องหมายความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศขั้นที่ 1 ประเภทอาวุธระเบิด 4 ดาว อาวุธจรวด 4 ดาว และอาวุธปืน 4 ดาว

วันที่ 4 พฤษภาคม 2540 บริษัทนอร์ธรอป ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงแบบ F-5 E/F ทูลเกล้าฯ ถวายเกียรติบัตรการบิน ที่ทรงทำการบินกับเครื่องบินขับไล่ F-5E/F ครบ 2,000 ชั่วโมง
 
ข้อมูลจาก มติชน ภาพเก่า…เล่าตำนาน : พระมหากษัตริย์นักบินรบ : โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก
https://www.thaifighterclub.org/

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน เป็นฉัตรแก้วร่มเกล้าแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้า และพสกนิกรชาวไทยสืบไป.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358

Share

Recent Posts

New York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check Out

New York City is a haven for food lovers, and when it comes to ice… Read More

11 months ago

Explore Montenegro, The Hidden Gem of the Balkans

Montenegro, a hidden gem nestled in the Balkans, offers travelers a captivating experience with its… Read More

11 months ago

Spice Up Your Salad Game With These Tips To Make Salads More Exciting

Salads are a fantastic way to incorporate fresh and nutritious ingredients into our daily meals.… Read More

11 months ago

The Best Travel Destinations For Fitness Enthusiasts

  For fitness enthusiasts seeking to combine their love for travel and physical well-being, there… Read More

11 months ago

What To Do On Your First Visit To Edinburgh

Edinburgh, the capital city of Scotland, is a captivating destination that offers a perfect blend… Read More

12 months ago

Which Are The Consistently Most Popular Starbucks Drinks?

Starbucks has become a global phenomenon, captivating millions of coffee enthusiasts with its diverse menu… Read More

12 months ago