รอยพระบาท..สี่รอย พลังลี้ลับชาวลับแล




“รอยพระพุทธบาท” หมายถึง “รอยเท้าของพระพุทธเจ้า” มีมาตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูป

หลังจากที่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น…รอยพระพุทธบาทได้กลายเป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงความเป็นดินแดนสิริมงคล ซึ่งก็คือดินแดนที่พระพุทธองค์ได้เสด็จดำเนินไปถึง เกี่ยวเนื่องกับความศรัทธาที่เชื่อว่า…กฎแห่งกรรมมีจริง นรกสวรรค์ บุญบาปมีจริง…จึงไม่กล้าทำกรรมชั่ว การบูชารอยพระพุทธบาทตามคติความเชื่อคือ “รอยพระพุทธบาท” ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้เพื่อเป็นเจติยสถานที่ควรเคารพ

อีกประเด็นสำคัญน่าสนใจคือ …รอยพระพุทธบาทซึ่งอ้างกันว่าเป็นรอยที่พระพุทธองค์ได้เสด็จไปเหยียบไว้ด้วยพระองค์เอง 5 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ที่เขาสุวรรณมาลิก, เขาสุวรรณบรรพต, เขาสุมนกูฏ, เมืองโยนกบุรี และที่หาดทรายในลำน้ำนัมทานที

กรณีที่จังหวัดลำพูน…ก็มีตำนานกล่าวถึง “วัดพระพุทธบาทตากผ้า” ว่า “พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาบริเวณวัดแห่งนี้ ได้ให้พระอานนท์นำจีวรไปซักบริเวณแม่น้ำ ต่อมาบริเวณนั้นก็ได้ชื่อว่า…วังซักครัว (ซักผ้า) จนบัดนี้ พระอานนท์ได้นำผ้าไปตากที่ลานหิน ก็ยังมีรอยตากผ้าอยู่จนทุกวันนี้”

เมื่อพระองค์ทรงประทับรอยพระบาทไว้แล้วก็ตรัสพยากรณ์ทำนายไว้ว่า “ดูกรอานนท์สถานที่ แห่งนี้จะปรากฏชื่อว่า พระพุทธบาทตากผ้า”

O O O

“การวิเคราะห์ความเชื่อและการบูชาเกี่ยวกับ รอยพระพุทธบาทของชาวพุทธล้านนา” โดย โสภณ จาเลิศ (วารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์) ระบุอีกว่า ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้แบ่งเป็นสองกลุ่ม…กลุ่มหนึ่งเชื่อว่า “รอยพระพุทธบาท” นั้นมีทั้งรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับไว้ด้วยพระองค์เองและมีทั้งรอยพระพุทธบาทที่มนุษย์สร้างขึ้น และอีกกลุ่มหนึ่ง…เชื่อว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น

ประเด็นน่าสนใจที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อการบูชาสักการะกราบไหว้ก็แบ่งเป็นสองกลุ่มเช่นกัน กลุ่มหนึ่ง…เชื่อว่าหากได้สักการะบูชา เมื่อเสียชีวิตไปแล้วจะไม่ตกไปสู่อบายภูมิ ส่วนอีกกลุ่มเชื่อว่า…การที่จะตกไปอยู่ในอบายภูมิหรือสุคติภูมินั้นขึ้นอยู่กับวาระจิตสุดท้ายขณะเสียชีวิต

“ถ้าจิตยึดเหนี่ยวอยู่กับสิ่งที่เป็นกุศล เมื่อจิตดับมีโอกาสไปสู่สุคติภูมิ”

ดังนั้น ผู้ที่สักการะกราบไหว้บูชารอยพระพุทธบาทอยู่เสมอ เมื่อใกล้เสียชีวิตอาจทำให้จิตระลึกถึงสิ่งที่เป็นกุศล จึงไม่ตกไปสู่อบายภูมิ ตรงกันข้ามถ้าจิตยึดเหนี่ยวอยู่กับสิ่งที่เป็นอกุศลก็มีโอกาสไปสู่อบายภูมิได้

สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาทของชาวพุทธล้านนา ความเชื่อก็ยังแยกย่อยออกเป็นสองกลุ่มตามศรัทธาเชื่อมโยงข้างต้น… โดยการบูชารอยพระพุทธบาทจะต้องคำนึงถึงความสะอาดทั้งร่างกาย…จิตใจ กล่าวคือชำระร่างกายให้สะอาด รักษาศีล 5 หรือศีล 8 ให้บริสุทธิ์ก่อนบูชารอยพระพุทธบาท

นอกจากนี้ ต้องถอดหมวก ถอดรองเท้า สุภาพสตรีห้ามเข้าในที่ต้องห้าม…การบูชาโดยปกติจะบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ปิดทอง แต่การบูชาประจำปีจะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อย บางแห่งจะใช้น้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือน้ำสรงพระราชทานในการสรงน้ำพระพุทธบาทประจำปีสำหรับผู้เป็นประธานพิธี

ประชาชนทั่วไปใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยธรรมดา …ไม่คายชานหมาก ขากเสลด ถ่มน้ำลายบริเวณรอยพระพุทธบาท มีความรู้อีกว่าเพราะชาวล้านนาเชื่อว่า “ส้มป่อย” เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ที่ขจัดสิ่งชั่วร้ายไปจากชีวิต

คำว่า “ป่อย” หมายถึงปลดปล่อยสิ่งจัญไรอัปมงคลออกไป

ตอกย้ำความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงส์ของการบูชารอยพระพุทธบาทในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ ชาวพุทธล้านนาเชื่อว่าจะทำให้ตนเอง…ครอบครัว อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัย แคล้วคลาดจากอันตราย มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และฝนตกต้องตามฤดูกาล

นับว่า…เป็นความเชื่ออันทรงคุณค่าที่บรรพบุรุษของไทยล้านนาได้ปลูกฝัง ถ่ายทอดมายังอนุชนรุ่นหลังอย่างมีนัยสำคัญ

O O O

ศรัทธาความเชื่อเกี่ยวกับ “รอยพระพุทธบาท” …มีมากล้น อาจจะกล่าวได้ว่าผู้ใดที่ได้ถวายกราบสักการะแล้วนั้น ก็เสมอเหมือนได้กราบสักการะบูชารอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า

“รอยพระพุทธบาทจำลองสี่รอย” วัดขนอนใต้ ต.บ้านกรด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา อีกหนึ่งในศรัทธาที่สำคัญ บันทึกไว้ว่า…พระอาจารย์ผู้ดำริและนำธุดงค์ไปจำลองรอยพระพุทธบาทจากเมืองเชียงใหม่ การเดินทางเส้นทางไปผ่านจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี…อำเภอโกรกพระ ปากน้ำโพ

จังหวัดนครสวรรค์…กำแพงเพชร อำเภอเถิน จังหวัดตาก ตัดป่าดงเข้าเชียงใหม่ เมื่อถึงสถานที่ เดิมเรียกเมืองกะเขตพระบาท…รอยพระพุทธบาทอยู่บนเขา ได้จำลองโดยใช้หมึกทาที่ผ้าขาว ทบรอยรายละเอียดพระบาทที่ประทับบนภูเขา เมื่อสำเร็จเสร็จกิจแล้วเดินทางกลับผ่านจังหวัดลำพูน ลำปาง แพร่ อำเภอลับแล…

จังหวัดอุตรดิตถ์ ตัดป่าดงผ่านอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย…ที่นี่มีผู้มีจิตศรัทธาอุทิศถวายเรือห้าลำ เดินทางกลับตามลำน้ำ ผ่านปากน้ำโพ ล่องมาตามลำน้ำเจ้าพระยา กลับวัดขนอนใต้โดยปลอดภัย

ขณะผ่านเมืองลับแล พระอาจารย์ได้บอกถึงนิมิตว่า…ได้มีผู้มาขอร้องว่าถ้าจะสร้างรอยพระบาทจำลองขอให้บอกด้วยจะเดินทางมาร่วมสร้างก็รับคำ ครั้งขณะเททองหล่อครั้งแรก ทองเกิดหกตกดินแล้วบินขึ้น ผู้คนแตกตื่นตกใจ…หลังจากนั้น 5 วัน บุบดิน นอกที่พอกหุ่นออก ปรากฏว่า…รอยรูปที่พบขาดเป็นชิ้นๆไม่ต่อเนื่อง

จึงได้หวนตรองถึงเหตุอาเพศ นึกถึงว่าคงไม่ได้บอกกล่าวชาวเมืองลับแลตามที่รับปากไว้…จึงดำริคิดดำเนินการใหม่เป็นครั้งที่สอง ครานี้พระอาจารย์จุดธูปบอกเล่าการดำเนินการหล่อรอยพระพุทธบาท ขณะเททองหล่อได้มีผู้หญิงจำนวนกลุ่มใหญ่ แต่งกายชุดไทยสวยงาม มีเครื่องประดับมากมาย มาจากไหนไม่มีใครทราบ

พอมาถึงบริเวณพิธีได้ปลดสายสร้อยทองคำ กำไลข้อมือ เครื่องประดับอันมีค่าทั้งหมดใส่ลงไปในเบ้าหลอมแล้วเดินออกไปทางหลังวัดโดยมิได้พูดอะไรกับใคร ครั้นให้คนเดินไปตามหาก็ไม่พบน่าอัศจรรย์ใจ

จึงเชื่อกันว่า…มาจากเมืองลับแล เพื่อนำเครื่องทองมาร่วมหล่อรอยพระพุทธบาท

“ศรัทธา”…นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อ โปรดอย่าได้…“ลบหลู่”.

รัก-ยม