พ่อแม่ควรทำอย่างไร เมื่อรู้ว่าลูกเป็น LGBTQ




สังคมต่างๆ ยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้ไม่เหมือนกัน บางประเทศเริ่มออกกฎหมายให้สมรสได้อย่างเท่าเทียม เพื่อรักษาสิทธิของคู่รัก LGBT อย่างไรก็ดีหากพบว่าเด็กเริ่มแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจยอมรับอย่างไรเพื่อให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต

LGBTQ ไม่ใช่ความผิดปกติของร่างกาย

นพ.รัตนภูมิ วัฒนปัญญาสกุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.พญาไท นวมินทร์ เล่าถึงประสบการณ์การดูแลเด็กและครอบครัว LGBT ที่เข้ามาปรึกษาว่า

“เรื่องของเพศไม่ใช่ความผิดปกติของร่างกายแต่เป็นความชอบ ซึ่งมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำการรักษา แต่ควรทำใจยอมรับ

เคสส่วนใหญ่ที่เข้ามาปรึกษากับจิตแพทย์คือเด็กเลือกแล้วว่าตนเองมีจิตใจไปทางเพศใด และเริ่มมีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว เด็กเล็กจะไม่รู้สึกว่ามันคือปัญหา แต่คนที่กังวลใจคือพ่อแม่ที่เป็นคนพาลูกมาปรึกษาว่าจะปฏิบัติต่อลูกอย่างไร

ส่วนเด็กโตมักจะเข้ามาปรึกษากับหมอด้วยตัวเอง มักมีปัญหาความสัมพันธ์กับพ่อแม่ และครอบครัวเช่นกัน แต่ก็มีความรู้สึกติดขัดเมื่อเข้าสังคมที่โรงเรียน โดนเพื่อนบูลลี่”

LGBT ไม่จำเป็นต้องพามาให้หมอแก้ไข แค่พ่อแม่เข้าใจ

มีงานวิจัยรองรับว่าเด็กที่มีจิตใจไม่ตรงกับเพศสภาพจะมีความสุขเพิ่มขึ้นกว่า 90% ในครอบครัวที่เปิดใจยอมรับ

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องถามใจตัวเองว่า “รักลูกตั้งแต่เมื่อไหร่” ความรักที่มักเกิดตั้งแต่ที่คุณรู้ว่าตัวเองได้เป็นพ่อแม่ โดยที่ยังไม่รู้ว่าลูกนั้นเป็นเพศอะไรในครรภ์เสียด้วยซ้ำ เด็กมักจะรู้จักเพศของตัวเองราว 3 ขวบ หลังจากนั้น 2 – 3 ปี ก็จะเริ่มรู้แล้วว่าอยากเป็นแบบไหน ชอบแบบไหน

LGBT ไม่จำเป็นต้องพามาให้หมอแก้ไข แค่พ่อแม่เข้าใจ
การสอนลูกที่เป็น LGBT ไม่แตกต่างจากการสอนเด็กชาย หรือเด็กหญิง โดยเริ่มแรกควรอธิบายให้เขารู้จักอวัยวะในร่างกายของตัวเอง รู้จักปกปิดอวัยวะลับ ส่วนใดที่ผู้อื่นไม่ควรจับ เช่น ก้น, หน้าอก และอวัยวะเพศ ด้วยการบอกกล่าวว่า “มันเป็นร่างกายของหนูเท่านั้น ห้ามให้ใครมาสัมผัสตามใจชอบ”

ต่อมาค่อยมาสอนเรื่องจิตใจ เมื่อลูกรู้ตัวว่าตัวเองมีเพศไม่ตรงกับเพศสภาพ ก็อธิบายว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เรื่องของเพศไม่มีผลต่อการประสบความสำเร็จในชีวิต ถ้าพ่อแม่สื่อสารได้เข้าใจกันตั้งแต่แรก ตัวลูกเองก็จะเปิดใจยอมรับได้

LGBT มักถูกคุกคามทางกายหรือทางใจ

การถูกคุกคามมักเกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของเด็กด้วยอุบัติการณ์สูงทั้งสองแบบ โดยเด็กผู้ชายมักจะถูกเพื่อนแกล้ง เช่น โดนจับอวัยวะเพศในห้องน้ำ หากเกิดขึ้นกับลูกก็ควรสอนให้เขาบอกครู หรือ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่มักจะมองว่าการคุกคามลักษณะนี้เป็นอาการของเด็กเล่นกัน ทุกคนต้องช่วยกันจัดการว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติ

นอกจากนี้การแกล้งกันที่ส่งผลทางจิตใจที่พบคือ การส่งรูปภาพลักษณะ Cyberbully เพื่อนๆ มองว่าเป็นเรื่องสนุก แต่ก็อาจส่งผลต่อจิตใจของเด็ก LGBT ต่อการเข้าสังคม

สอนลูก LGBT ป้องกันการคุกคามทางเพศ

การสอนลูกให้ปกป้องตัวเองเริ่มได้จากสถาบันครอบครัวก่อนเสมอ วัย 3-4 ขวบก็ควรสอนให้รู้จักอวัยวะ และร่างกายของตัวเอง และที่สำคัญลำดับต่อมาคือสอนให้เด็กรู้จักประเมินสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

หมอแนะนำให้เริ่มจากการดูสีหน้าท่าทาง คุณพ่อคุณแม่เริ่มได้จากเอากระดาษมาปิดใบหน้าให้ลูกสังเกตแววตา แบบไหนเป็นมิตร แบบไหนผิดปกติ สอนให้รู้จักลักษณะของผู้ไม่ประสงค์ดี เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่อึดอัดและล่อแหลมควรขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่และหลีกหนีอย่างไร

สุดท้ายนี้การยอมรับเรื่องเพศสภาพ เป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจกันได้ในครอบครัว ไม่จำเป็นต้องพามาให้หมอแก้อะไร เพียงแต่ใช้ความเข้าใจ และการสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่ เมื่อลูกมีปัญหาอะไรในใจก็จะกล้าพูดคุย และส่งเสริมให้เขามีจิตใจที่เข้มแข็งตามวัยของเขา

สัมภาษณ์ : นพ.รัตนภูมิ วัฒนปัญญาสกุล แพทย์เฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์