พระสมเด็จอรหัง พิมพ์สังฆาฏิ พระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณ ต้นแบบ “พระสมเด็จ”




พระสมเด็จอรหัง พิมพ์สังฆาฏิ สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัด มหาธาตุ ของโต้ง บางแค.

สวัสดีท่านผู้ชม วันนี้เรามีคติธรรมคำสอนจากหลวงพ่อมาฝากกันเหมือนเดิม อาทิตย์นี้เป็นของ หลวงพ่อชา ท่านว่า “น้ำฝนเป็นน้ำที่ใส สะอาดปกติดี ถ้าเราเอาสีเขียว สีเหลืองใส่เข้าไป น้ำก็เป็นสีเหลือง สีเขียว จิตใจเรานี้เช่นกัน เมื่อมันถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจก็สบาย ถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ใจก็ไม่สบาย เหมือนใบไม้ที่มันถูกลมก็กวัดแกว่ง เอาแน่นอนไม่ได้ ดอกไม้ ผลไม้ ถูกลมมาพัด มันก็ตกไปเลย ไม่มีสุก จิตใจมนุษย์ก็เหมือนกัน ถูกอารมณ์มาพัดไป ถูกอารมณ์มาฉุดไป มาดึงไป ตกไป ก็เหมือนกับผลไม้”

ต่อเข้าตลาดพระ เริ่มที่ พระสมเด็จอรหัง พิมพ์สังฆาฏิ สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดมหาธาตุ พระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณ รูปทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ต้นแบบ “พระสมเด็จ” ที่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) สร้างขึ้นตอนพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯให้ไปจำพรรษาที่วัดพลับ ซึ่งอยู่ใกล้พระบรมราชวัง ก่อนบูรณะยุบรวมเป็นวัดราช สิทธาราม และแต่งตั้งพระอาจารย์สุก เป็นเจ้าอาวาสในฐานาสมณศักดิ์ที่พระญาณสังวร

ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆ ราชญาณสังวร และไปครองวัด มหาธาตุ กรุงเทพฯ ซึ่งท่านได้สร้างพระพิมพ์เนื้อผงรูปทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ด้านหน้าเป็นองค์พระปฏิมา นั่งปางสมาธิ เหนือฐาน ๓ ชั้น อยู่ในซุ้มครอบแก้ว ด้านหลังเรียบ มีรอยลงลายมือจารอักขระภาษาบาลีว่า อรหัง

ส่วนหนึ่งมอบผู้ร่วมงานบุญพิธีรับสถาปนา อีกส่วนใหญ่นำบรรจุองค์ พระเจดีย์ สืบอายุพระพุทธศาสนา องค์นี้ของ เสี่ยโต้ง บางแค เป็นพิมพ์สังฆาฏิ ๑ ในพิมพ์นิยมมาตรฐาน ที่สวยเชี้ยบ ซึ่งราคาค่าปัจจุบันสูงถึงหลักล้านแล้ว

พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑ วัดใหม่อมตรส ของพรรค คูวิบูลย์ศิลป์.

องค์ถัดไปเป็น พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑ วัดใหม่อมตรส กรุงเทพฯ องค์พระยังสมบูรณ์ แต่พิมพ์องค์พระลบเลือนจากการสัมผัสใช้จนเข้าถึงเนื้อใน จึงเปิดให้เห็นมวลสารครบสูตร

แบบนี้เข้าตำราพระแท้ดูง่าย ที่มีผู้แสวงหากันมาก เพราะราคาเบากว่า พระสวยแชมป์ แต่ก็ใช้ดี โชว์ได้ และหา ยากพอกัน เสี่ยพรรค คูวิบูลย์ศิลป์ เจ้าของ จึงมีคนตามเยอะ

พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ วัดนางพญา ของโจ๊ก ลำพูน.

องค์ที่สามคือ พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ วัดนางพญา พิษณุโลก ที่มีคำกล่าวว่า พระดีราชินีสร้าง ตามประวัติว่า พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระมเหสีของสมเด็จพระมหาธรรม ราชา (ลิไท) สร้างบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ วัดนางพญา เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๐๙๐-๒๑๐๐ มาค้นพบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ คราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก คนงานที่ปรับ พื้นที่เตรียมสถานที่รับเสด็จ จึงขุดพบพระพิมพ์เนื้อดินเผา รูปทรง สามเหลี่ยมหลายแบบจำนวนมาก

วัดจึงคัดพระส่วนหนึ่ง นำขึ้นถวาย ซึ่งพระองค์ก็พระราชทานข้าราชบริพาร ตามเสด็จ ทำให้พระเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อต่อมาค้นพบพระนี้ที่กรุพระวัดอินทรวิหาร วัดเลียบ พระราชวังบวรมงคล (วังหน้าและวัดสังข์กระจาย) จึงเข้าใจได้ว่าเป็นพระที่ข้าราชบริพาร นำมาบรรจุ

ครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ พบพระอีก ในอาณาเขตวัดราษฎร์บูรณะ ที่เดิม ตอนคนงาน ปรับพื้นที่ฝังท่อระบายนํ้า เป็นพระพิมพ์ เหมือนที่พบครั้งแรก มี ๑.พิมพ์เข่าโค้ง ๒.พิมพ์เข่าตรง ๓.พิมพ์อกนูนใหญ่ ๔. พิมพ์สังฆาฏิ ๕.พิมพ์เทวดา (อกแฟบ) ๖.พิมพ์อกนูนเล็ก ๗.พิมพ์พิเศษ เข่าบ่วงขนาดใหญ

องค์นี้ของ เสี่ยโจ๊ก ลำพูน เป็นพระพิมพ์สังฆาฏิ ที่เป็นพระพิมพ์กลางหนึ่งเดียวของกรุ สภาพองค์พระงามสมบูรณ์เดิมๆ เนื้อจัด ผิวพรรณวรรณะมีคราบฝ้ารากรุจับแน่น –พระแท้ดูง่ายๆ แบบนี้ปัจจุบันราคาอยู่ที่หลักแสนกลาง

พระนางพญา พิมพ์เทวดา วัดนางพญา ของ ปรีดา คูวิบูลย์ศิลป์.

อีกองค์ก็นางเป็นพิมพ์เทวดา วัดนางพญา พิษณุโลก ซึ่งอยู่ในหมวดพิมพ์เล็ก ที่ตลาดพระมีความเคลื่อนไหว ซื้อขายอย่างสูง วงการพระจึงคาดว่าจะเป็นพระซื้อง่ายขายคล่องในปีนี้ โดยเฉพาะองค์สภาพสมบูรณ์ดูง่ายๆแบบองค์นี้ ของ เสี่ยปรีดา คูวิบูลย์ศิลป์

พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้น อกตลอด ของดำริห์ โรจนพาณิชย์วงศ์.

องค์ที่ห้า คือ พระสมเด็จเกศไชโยพิมพ์ ๖ ชั้น อกตลอด วัดไชโยวรวิหาร อ่างทอง เป็นพระสมเด็จของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่มีอายุการสร้างยุคเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ เนื้อมวลสารก็จัดจ้าน เข้มข้น คล้ายกัน แต่ราคาย่อมเยาที่สุดในตระกูลพระสมเด็จของท่าน

โดยเฉพาะพิมพ์นิยมท้ายสุด อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยดำริห์ โรจนพาณิชย์วงศ์ (คุ้ม โสนลอย) ที่องค์งามๆ สภาพสมบูรณ์เดิมๆ แบบนี้ยังเตาะแตะอยู่ที่หลักแสนปลาย ขึ้นล้านต้นๆ

พระพิมพ์สมาธิเข่ากว้าง สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดพลับ ของศรัณย์ยักษ์ เวสสุวรรณ.

ถัดไป เป็น พระพิมพ์สมาธิ เข่ากว้าง สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) กทม. ที่ท่านสร้างครั้งไปครองวัดพลับ

เป็นพระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณขาว ทรงกลม ด้านหน้าเป็นองค์พระศิลปะรัตนโกสินทร์ นั่งปางสมาธิลอยองค์ ด้านหลังอูม มีเนื้อมาก

ค้นพบจาก “กรุกระรอกเผือก” ซึ่งเล่ามาว่าชาวบ้านไล่จับกระรอกเผือก ที่หนีเข้าไปในโพรงพระเจดีย์ ชาวบ้านจึงใช้ไม้กระทุ้งจะไล่ให้ออกมา แต่กลับได้องค์พระไหลลงมากองเป็นจำนวนมาก ขนาดใหญ่ กลาง เล็ก

และแยกพิมพ์ได้มากมาย เช่น พิมพ์สมาธิ พิมพ์ตุ๊กตา พิมพ์ยืนวันทาเสมา พิมพ์พระปิดตา ซึ่งแต่ละพิมพ์ยังมีรายละเอียดแยกเป็นอีกหลายพิมพ์

อย่างองค์นี้ของ เสี่ยศรัณย์ยักษ์ เวสสุวรรณ เป็นพิมพ์สมาธิเข่ากว้าง ซึ่งเป็นพิมพ์สมาธิ นิยมแถวหน้า ที่หากันมากที่สุดพิมพ์หนึ่ง เพราะคมชัด สัดส่วนลงตัว และเป็นพิมพ์ที่มีประสบการณ์ทางคุ้มครองป้องกันให้แคล้วคลาด ถึงคงกระพันชาตรี จนแพทย์ใหญ่ท่านหนึ่งยืนยันว่า เข็มฉีดยาแทงไม่เข้าเนื้อ

พระพุทธรูปบูชาสุโขทัย ยุคต้น หน้าตัก ๑๔” ของ เบิ้ม นครพิงค์อาร์ต.

อีกรายการ เป็น พระพุทธรูปบูชา พุทธศิลป์สุโขทัย ยุคต้น พุทธศตวรรษที่ ๑๘ หน้าตัก ๑๔” ของ เสี่ยเบิ้ม นครพิงค์ อาร์ต เป็นพระพุทธรูปบูชา ถึงยุคเนื้อโลหะมีอายุความเก่า ดูจากสนิมที่ขึ้นจากผิวเนื้อจับแน่นเข้าเนื้อใน และถึงศิลป์ ด้วยรูปพระพักตร์แบบผลมะตูม พระขนงโค้งดั่งคันศร พระเนตรยาว ทรวดทรงองค์พระ บอกความเป็นพุทธศิลป์สุโขทัยไว้ชัดเจน ที่สำคัญเป็นพระขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบันหายากมาก

เหรียญพระนิรันตราย พระนิโรคันตราย รุ่นแรก ๒๔๖๗ วัดราชประดิษฐ์ ของ มีชัย เถาเจริญ.

สุดท้าย คือ เหรียญพระนิรันตราย พระนิโรคันตราย รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๗ วัดราชประ ดิษฐ์ กรุง เทพฯ เป็น เหรียญปั๊มจำลอง สองหน้า ด้านหนึ่งเป็นรูปจำลองพระนิรันตราย พระพุทธรูปโบราณที่มีชาวบ้าน นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อราวปี พ.ศ.๒๓๙๙ ซึ่งพระราชทาน พระนามว่า พระนิรันตราย นับเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาล ที่สำคัญองค์หนึ่ง

ทรงโปรดให้อัญเชิญประดิษฐานในพระแท่นมณฑล ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆเช่น พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (ทำบุญ ตรุษ), พระราชพิธีสงกรานต์ ฯลฯ ปัจจุบันเจ้าพนัก งานภูษามาลา ยังคงรักษาแบบแผน โบราณราชประเพณี โดยอัญเชิญไปประ ดิษฐานในพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น ในการบำเพ็ญ พระราชกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษา และการพระราชกุศลที่ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าให้ จัด ณ พระที่นั่งไพศาล ทักษิณ

อีกด้านเป็นรูปจำลองพระพุทธนิโรคันตราย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๖ ที่ชื่อมีความหมายว่า การปราศจากซึ่งภยันตรายทั้งปวง

พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบพุทธศิลป์สุโขทัย พระพักตร์แจ่มใส พระเนตรเปิด พระหัตถ์ขวาวางทับพระหัตถ์ซ้าย พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย หล่อด้วยเนื้อสำริด จัดสร้าง ในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.๖ทรงหายจากอาการประชวรหนัก ในปี พ.ศ.๒๔๖๗

โดยทรงให้พระเทพรจนา (สิน ปฏิมาประกร) ปั้นหล่อพระพุทธรูปกะไหล่ทอง ปางสมาธิขนาดหน้าตัก ๖ นิ้ว สูงจากฐานจดยอดพระเมาฬี ๑๓.๕ นิ้ว ที่เบื้องซ้ายและขวามีรูปพญานาคเจ็ดเศียร แปลงอยู่เหนือศีรษะ มีหน้าเป็นมนุษย์ มีเขี้ยวสองข้างที่มุมปาก ลำตัวด้านหน้าเป็นมนุษย์ อีกข้างเป็นขนดหางนาค เชิญฉัตร ๑ พัดโบก ๑

เป็นเหรียญยอดนิยมราคาหลักแสน ที่ปัจจุบันหาเหรียญแท้สวยสมบูรณ์อย่างเหรียญนี้ ของ เสี่ยมีชัย เถาเจริญ ได้ยากมาก เพราะสร้างน้อย เข้าใจว่าพระราชทานเฉพาะเชื้อพระวงศ์กับชนชั้นเจ้านาย

มาถึงเรื่องปิดท้ายที่ขาดหายไปไหนไม่ได้ วันนี้เล่าถึง เสี่ยโกมล ทายาทนักธุรกิจค้าที่ดิน ซึ่งได้พระสมเด็จบางขุนพรหม องค์งาม สภาพแชมป์จากพ่อตอนปีใหม่

ก่อนมอบ พ่อก็ย้ำให้รักษาให้ดี เพราะเป็นพระแท้หายากพ่อเช่ามาจากวัดโดยตรงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ลูกชายก็สัญญา หนักแน่นว่าจะเก็บรักษาอย่างดี

แต่เพื่อความแน่ใจ อาทิตย์ต่อมา เสี่ยโกมล ก็เอาพระไปให้เซียนในศูนย์พระใหญ่ตรวจสอบ พอร้านแรกส่องแล้วขอซื้อ ๑.๒ ล้าน เสี่ยโกมลก็ตื่นเต้น รีบโทร.รายงานพ่อ พ่อก็ตื่นเต้น แต่ยังรักษาฟอร์ม บอกว่า เราเป็นนักธุรกิจ ต้องลองสอบถามร้านอื่นดู อาจได้ราคามากกว่านี้

อีกชั่วโมง เสี่ยโกมล ก็โทร.บอกพ่อว่าให้อีกสองสามร้านดูแล้ว ให้ราคาใกล้เคียงกัน แต่มีร้านหนึ่งให้ราคาสูงที่สุด ๑.๕ ล้าน ผมอยากขาย แต่กลัวพ่อว่าเลยโทร.มาให้พ่อตัดสินใจ

คราวนี้พ่อตอบเสียงตื่นเต้นทันทีว่า งั้นขาย ไปเถอะ เป็นพ่อขายตั้งแต่ร้านแรกล้านสองแล้ว เพราะเราเป็นนักธุรกิจ เช่ามาไม่ถึงสองพัน ขายได้ล้านห้า ถือว่ากำไรเกินคุ้ม เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง