ฝีดาษลิง รักษาหายไหม ต้องป้องกันอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ




จากการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรค “ฝีดาษลิง” เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว ประกอบกับมีรายงานว่าพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกในไทย ก็ทำให้หลายๆ คนกลับมาตื่นตัวเรื่องฝีดาษลิงกันอีกครั้ง และคำตอบที่หลายคนอยากรู้คือ ฝีดาษลิง รักษาได้หรือไม่ มีวิธีการรักษาอย่างไร เช็กคำตอบได้ที่นี่

ฝีดาษลิง รักษาหายไหม

แม้ว่า “ฝีดาษลิง” จะเป็นโรคระบาดที่ดูน่ากลัวจนทำให้หลายคนหวาดระแวง แต่ข่าวดีคือฝีดาษลิงสามารถรักษาให้หายได้ เพียงแต่ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาได้โดยตรง เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะสามารถหายได้เอง ภายในระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการรักษาตามอาการร่วมกับการพักผ่อน

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหากผู้ป่วยเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็ก กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว กลุ่มคนท้อง ก็มีความเสี่ยงที่อาการจะรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับคนกลุ่มนี้แพทย์จะมีการพิจารณาให้การรักษาโดยการใช้ยาต้านไวรัสชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ยาที่รักษาโรคฝีดาษคน (Small Pock) หรือยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาการติดเชื้อ CMV อาจจะช่วยบรรเทาได้ และต้องมีการรับรอง FDA จากองค์การอนามัยโลกว่าสามารถใช้ได้เท่านั้น

ฝีดาษลิง มีวัคซีนป้องกันไหม

หน่วยปฏิบัติการวิจัยโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่าวัคซีนฝีดาษคน หรือวัคซีนไข้ทรพิษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษลิงได้ แต่การฉีดวัคซีนควรทำเฉพาะในคนที่ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนการระบาดของโรคฝีดาษลิงและคนที่ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และสามารถให้วัคซีนได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน

นอกจากนี้วัคซีนฝีดาษลิงรุ่นใหม่จากต่างประเทศ ยังมีข้อจำกัดเพราะผลิตน้อย ทำให้มีราคาที่สูง การสั่งจองต้องรอเวลา และต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงกับประชาชน หากนำมาฉีดต้องเฉพาะผู้ติดเชื้อ ป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรง

ส่วนการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษในอดีตนั้น พบว่าสามารถป้องกันได้ 85% ซึ่งปัจจุบันไม่มีการปลูกฝีให้เด็กเช่นคนรุ่นก่อน เนื่องจากมีการแพร่ระบาดลดลง ขณะที่การทดลองให้ยาต้านไวรัสสำหรับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี 100% กำลังอยู่ในขั้นการทดลอง และต้องศึกษาอย่างละเอียดเนื่องจากยาต้านไวรัสอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง ด้วยตนเอง

เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคฝีดาษลิงโดยตรง และยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันฝีดาษลิงในไทย การรับมือที่ดีที่สุดคือการป้องตัวเองจากโรคฝีดาษลิง นั่นคือ

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่อาจเป็นพาหะนำโรค
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดโรค
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มใส และตุ่มหนองที่ผิวหนัง
  • ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นเพื่อสุขอนามัยที่ดี
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ใช้สบู่ทำความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ
  • รับประทานอาหารปรุงสุกเท่านั้น งดเมนูเนื้อสัตว์ป่า
  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน
  • หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์

อาการโรคฝีดาษลิง

หากใครไม่มั่นใจว่าตนเองจะติดโรคฝีดาษลิงหรือไม่ สามารถเช็กอาการได้ดังนี้

  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มใส ตุ่มหนอง จากจุดหนึ่งบนร่างกาย และค่อยๆ ลามไปทั่วตัว

ทั้งนี้อาการฝีดาษลิง จะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 5-20 วัน อาการเริ่มต้นคือมีไข้ จากนั้น 1-3 วัน จะปรากฏตุ่มใส ตุ่มนูน หรือตุ่มแดง ขึ้นตามร่างกาย และมีอาการต่อเนื่องประมาณ 2-4 สัปดาห์ กว่าที่ตุ่มนูนต่างๆ จะตกสะเก็ด แล้วจะค่อยๆ หายจากโรคได้เอง ยกเว้นในบางรายที่มีอาการหนัก ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีภาวะแทรกซ้อน ก็อาจเป็นอันตรายเสี่ยงต่อชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย ว่ามีอาการเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงโรคฝีดาษลิงหรือไม่

ขณะเดียวกันก็ไม่ควรวิตกกังวลหรือหวาดระแวงมากจนเกินไป แม้ว่าฝีดาษลิงจะเป็นโรคระบาด แต่ก็ไม่ได้แพร่เชื้อหรือติดเชื้อกันง่ายเหมือนกับโควิด-19 หากมีการป้องกันตัวอย่างดีตามวิธีที่ได้แนะนำไปเบื้องต้นก็ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อฝีดาษลิงได้มากขึ้น

อ้างอิงข้อมูล: หน่วยปฏิบัติการวิจัยโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข