ผงสุพรรณเนื้อสองสี




ข้อความตอนหนึ่งในจารึกลานทอง ที่พบในเจดีย์วัดพระมหาธาตุ สุพรรณบุรี เนื้อพระผงสุพรรณที่ทำจากผงว่านเกสรนั้น สถานหนึ่งดำ สถานหนึ่งแดง แสดงว่า เนื้อพระผงสุพรรณมีสองสี

มนัส โอภากุล เขียนไว้ในหนังสือ พระเครื่องเมืองสุพรรณ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2524) แม้ความจากจารึกว่ามีสองสี แต่วงการพระเครื่องรู้กันกว้างขวางเพิ่มอีกสองสี สีเนื้อหรือสีใบลานแห้งกับสีเขียว สรุปได้ว่ามีสี่สี

ลักษณะสีดำนั้น หาได้ดำสนิทเหมือนขนกาน้ำไม่ สีดำหม่นปนเทาและแห้งผาก ส่วนสีแดง แดงคล้ายอิฐหรือหม้อดินเก่า สีแดงเนื้อมักแข็งแกร่ง ส่วนสีอื่นนั้นหนึกนุ่ม

สีเขียวคล้ายสีก้านมะลิ หรือสีมะกอกสุก หากใช้ถูกเหงื่อไคลจะกลายเป็นเขียวอมดำ

อีกสีหนึ่งเป็นสีใบลานแห้ง จะเรียกสีขาวก็ได้ ลักษณะคล้ายสีเนื้อเรา เป็นสีที่พบมากที่สุด

หลัก…จากผู้รู้ระดับคุณมนัส…อ่านจากสมัยที่ยังไม่มีภาพพระผงสุพรรณสีคมชัดขยายใหญ่ให้ดูก็ต้องมโนเอาไปตามประสา แต่สมัยนี้มีภาพพระสีให้ดูเทียบเคียงมาก ควรเอาหลัก “ครู” ผู้นี้ ไปประกอบการพิจารณา

มาถึงปัญหาที่หลายผู้รู้ยังเถียงกัน…เนื้อพระผงสุพรรณเผาหรือไม่เผา

คุณมนัสอธิบาย ผงสุพรรณเป็นพระแบบเชื้อสมาน ผงว่าน ผงเกสร และดิน เมื่อผสมกันแล้ว ต้องมีเชื้อสมานทำให้มวลสารจับต้องกันเป็นผลึก เชื้อสมานน่าจะเป็นน้ำหวาน ประเภทน้ำอ้อย

หากวินิจฉัยว่าใช้น้ำหวาน คุณมนัสเชื่อว่าพระผงสุพรรณไม่ได้เผา หากเผาผงว่าน เกสร ก็จะถูกเผาหมด ข้อวินิจฉัยนี้คุณมนัสออกตัวว่า ผิดถูกอย่างไร เป็นข้อคิดเห็นข้าพเจ้าคนเดียว

เวลาผ่านมาอีกนาน…จำนวนพระผงสุพรรณทะลักเข้าสู่กลไกตลาดมากขึ้น ผู้รู้รุ่นต่อๆมา เช่น คุณราม วัชรประดิษฐ์ เริ่มมีความรู้ตกผลึกว่า พระผงสุพรรณเป็นพระเนื้อดินที่ผ่านการเผาไฟ

สีสันขององค์พระจึงเป็นเช่นเดียวกับพระเนื้อดินเผาอื่นๆ คือมีตั้งแต่สีเขียวที่ถูกเผาไฟในอุณหภูมิสูงและนานที่สุด สีแดง สีมอย สีน้ำเงินเข้ม สีเทา ไปจนถึงสีดำ

การเผาโดยควบคุมอุณหภูมิ ส่งผลให้พระผงสุพรรณ มีสภาพความแกร่ง คมชัด ไม่หักเปราะง่าย

ผิวนอกขององค์พระผงสุพรรณ จะปรากฏเป็นสองลักษณะ ประการแรกพระที่ผ่านการใช้จะเห็นความฉ่ำขึ้นมันเป็นเงา ประการต่อมาพระที่ไม่ผ่านการใช้ยังเห็นคราบนวลดินจับบางๆ อยู่บนองค์พระหรือตามซอก

คราบนวลดินนี้ แทบจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกับผิวองค์พระ

อีกประการจะปรากฏรอยหดตัว ที่มองดู เหมือนรอยย่นของผิวหนัง กระจายอยู่ทั่วองค์พระ บริเวณผนัง จะพบการหดตัวเป็นริ้วคลื่นเล็กๆ มากกว่าส่วนที่พระวรกาย

เหล่านี้คือภาพรวมจากหลักของผู้รู้ ที่คนรักพระผงสุพรรณควรทำความเข้าใจเอาไว้เป็นพื้นฐาน ในการพิจารณาเมื่อพบพระผงสุพรรณตรงหน้า…

พระผงสุพรรณ องค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นพิมพ์หน้าแก่ ที่มีทุกเส้นสายลายพิมพ์ และตำหนิถูกต้อง ไม่ว่าแม่พิมพ์ด้านหน้า หรือริ้วรอยลายมือด้านหลัง

จะมีสิ่งสะดุดตาบ้าง ที่เนื้อหาส่วนบนองค์พระเป็นสีเนื้อ แต่ส่วนล่างเป็นสีดำ สำหรับคนไม่คุ้นตา ก็อาจไม่สนิทใจ แต่สำหรับคนเป็นพระ ถือเป็นเสน่ห์อีกแบบที่แปลกตา ไม่พบในองค์พระผงสุพรรณอื่นๆ

สภาพพระองค์เดียว แต่มีสองสี อธิบายได้ คือความร้อนจากการเผาทำให้เป็นไป ส่วนบนถูกเผาพอดีๆ จึงสุกเป็นสีน้ำตาลหรือสีเนื้อที่คุ้นตา ส่วนที่ดำก็เพราะถูกความร้อนน้อยไป

ดูองค์รวมแล้ว สภาพองค์เดียวสองสี กลายเป็นสิ่งบ่งชี้ เป็นพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ ที่มีทุกองค์ประกอบกลมกลืนเป็นธรรมชาติพระแท้ ตัดสินได้ง่ายสบายตาไม่มีจุดขาด–หายตรงไหนเลย.

พลายชุมพล