ปรับพฤติกรรมลดเสี่ยง…ภาวะอุจจาระอุดตันในลำไส้




ภาวะอุจจาระอุดตันในลำไส้ (Fecal Impaction) หรือภาษาชาวบ้านที่มักพูดติดปากว่า “ขี้เต็มท้อง” คืออาการท้องผูกรุนแรง ที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเรื่องเล็กน้อย ไม่อันตราย เพียงซื้อยาระบายมาทานก็หายแล้ว ยิ่งในกลุ่มคนในวัยทำงานที่มีการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ ขับถ่ายไม่เป็นเวลา กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดอาการท้องผูกรุนแรงได้ง่าย และยิ่งมีวิถีชีวิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจก่อให้เกิดโรคร้ายที่ไม่คาดคิดตามมาได้

ภาวะอุจจาระอุดตันในลำไส้ หรือ โรคขี้เต็มท้อง คืออะไร

ภาวะอุจจาระอุดตันในลำไส้ หรือ โรคขี้เต็มท้อง ทางการแพทย์เรียกว่า อาการท้องผูก (Chronic constipation) คือ ภาวะที่มีอาการท้องผูกค่อนข้างรุนแรง มีอุจจาระอุดตันในลำไส้ค่อนข้างมาก เกิดจากระบบขับถ่ายในร่างกายแปรปรวน ในคนทั่วไปมักมีการขับถ่ายที่ประมาณ 1-3 ครั้ง ต่อวัน หรือ 3 วันครั้ง แต่ไม่ควรเกิน 3 วันครั้ง แต่ถ้าใครที่ไม่ขับถ่ายเกิน 3 วันครั้งขึ้นไปแสดงว่าเริ่มมีภาวะท้องผูกแล้ว หากยิ่งสะสมไว้มากก็จะมีผลกระทบสูง นานวันเข้าจะกลายเป็นขี้เต็มท้อง เพราะอุจจาระในลำไส้ส่วนต้นที่เหลวนั้นจะถูกดูดน้ำกลับมาที่ส่วนปลาย ก่อให้เกิดเป็นก้อนๆ ขึ้น ในบางครั้งอุจจาระที่ถูกอั้นนานๆ จะแข็งตัว เพราะถูกดูดน้ำกลับ พอแข็งมาก ก็จะทำให้ถ่ายไม่ออก ถ่ายยาก เนื่องจากว่าลำไส้พอมีการขยายออกถึงจุดๆ หนึ่งมีแรงที่จะหดกลับไม่เพียงพอ ทำให้อุจจาระก้อนใหญ่ขึ้นจนไม่สามารถเบ่งออกมาเองได้ การรักษาคือต้องล้างลำไส้ให้สะอาดก่อนแล้วมาดูสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เช่น เกิดจากมีก้อนเนื้อมาเบียดบังหรือไม่ เกิดจากการที่มีอุจจาระแข็งสะสมอยู่จำนวนมากหรือไม่ หรือในบางกลุ่มที่มีอาการท้องผูก แต่ไม่ได้ถ่ายเป็นก้อนสวย ขับถ่ายเป็นก้อนเล็กๆ ลักษณะคล้ายอุจจาระแบบแพะ หรือมีลักษณะถ่ายเหลวด้วยนั้นก็เป็นไปได้ว่าสาเหตุอาจเกิดจากภาวะที่ลำไส้บีบตัว หรือมีการทำงานที่แปรปรวน 80-90% อีกประมาณ 10-20% คืออาจจะมีโรคบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ซึ่งควรรีบหาสาเหตุเพื่อรีบรักษา

ภาวะอุจจาระอุดตันเกิดจากอะไร

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเองถึง 80% โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้ชีวิตเร่งรีบ ไปทำงานแต่เช้า ข้าวเช้าไม่ได้ทาน ปวดท้องถ่ายขณะอยู่บนรถ ขณะรถติด อั้นอุจจาระไว้จนไปถึงที่ทำงาน การที่เราอั้นอุจจาระทำให้การขับถ่ายของเราแปรปรวนไป ทั้งเรื่องการบีบของลำไส้ ทำให้หูรูดที่ไม่คลายตัว กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการท้องผูก หรือในบางครั้งมีการทานพวกวิตามินร่วมด้วย เช่น แคลเซียม ซิงค์ พวกนี้จะทำให้ท้องผูกได้ง่ายขึ้น คนที่ดื่มชา กาแฟ เป็นประจำ จะทำให้ปัสสาวะบ่อย กลายเป็นไม่อยากดื่มน้ำ ยิ่งดื่มน้ำน้อย ในขณะที่น้ำก็ถูกขับออกไป อุจจาระจึงแข็งตัวขึ้น หรือในบางคน ที่ทานผักผลไม้พวกกากใยน้อย ทำให้เราไม่ได้รับไฟเบอร์ในปริมาณที่ควรจะได้รับ จึงเกิดอาการท้องผูกได้ง่าย ซึ่งเหล่านี้ต้องมาแยกดูว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคร้ายแรง หรือกลุ่มอาการท้องผูก ดังนี้

1. กลุ่มผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรง ได้แก่ กลุ่มที่มีอายุมาก เช่น อายุ 45-50 ปี ขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร คนที่มีอาการขับถ่ายมีเลือดปน น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ โลหิตจาง หรือคนที่ท้องผูกเป็นปกติอยู่ดีๆ ก็มีอาการท้องไส้แปรปรวน เดี๋ยวท้องเสีย เดี๋ยวท้องผูก หรือถ่ายลำเล็กลง กลุ่มนี้ควรจะต้องไปพบแพทย์เพราะว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงได้ ยิ่งวินิจฉัย และเข้ารับการรักษาได้เร็ว ยิ่งมีโอกาสหายสูง

2. กลุ่มคนอายุน้อย วัยทำงาน ที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ กลุ่มนี้อาจลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากเปลี่ยนแล้วไม่ดีขึ้นควรมาตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุ

3. นอกจากนี้ภาวะอุจจาระอุดตันในลำไส้ หรือ อาการท้องผูก นั้น ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40-45 ปี ที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน สาเหตุที่พบอาการท้องผูกในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เพราะผู้หญิงมีประจำเดือน มีปัญหาในเรื่องของประจำเดือนไหลย้อน หากเป็นมาก เรียกว่าเนื้อเยื่อโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ทำให้ไปดึงรั้งลำไส้ ทำให้ลำไส้เกิดการบีบตัวได้ไม่ค่อยดี ลำไส้ไม่ตรง รวมถึงผู้ที่ผ่านการคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติมาแล้ว ผู้หญิงจึงท้องผูกง่ายกว่าเพศชาย และยังมีเรื่องของการผ่าคลอด ผ่าตัดถุงน้ำดี ผ่าตัดไส้ติ่ง การที่ยิ่งผ่านการผ่าตัดมามาก ก็จะยิ่งมีพังผืดเกาะได้ง่ายในช่องท้อง ทำให้มีอาการท้องผูกได้ง่าย

เมื่อมีอาการท้องผูกควรทำอย่างไร

โดยส่วนใหญ่แล้วการปฏิบัติตัวเบื้องต้นของคนที่มีอาการท้องผูกทั่วไปมีดังนี้

1. ฝึกการขับถ่าย

อาการท้องผูกที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั่วไปนั้น โดยปกติเวลาคนเราจะขับถ่าย มักจะถ่ายหลังรับประทานอาหารเช้า เพราะเมื่อเราตื่นนอนจะมีการบีบตัวของลำไส้ เกิดจากการขับไล่ของเก่าที่เราทานเข้าไปออกเพื่อไม่ให้เกิดการอุดตันด้านบนของลำไส้ เป็นกลไกที่แสนฉลาดของร่างกายที่มีการบีบไล่อุจจาระ เศษอาหารเก่าๆ ลงมาขับถ่ายออก เพื่อรองรับอาหารที่ทานเข้าไปใหม่ ดังนั้น เมื่อเราฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ดื่มน้ำมากๆ ก็สามารถขับถ่ายได้เป็นปกติ ซึ่งการขับถ่ายนั้นอาจมีขึ้นได้ทั้งหลังจากตื่นนอน หรือหลังทานอาหาร

2. หลีกเลี่ยงการทานวิตามินที่ไม่จำเป็น

การทานวิตามินเสริมบางประเภท เช่น แคลเซียม ซิงค์ ก็มีผลทำให้อาการท้องผูกได้ ดังนั้นถ้าใครมีเรื่องอาการท้องผูก ขับถ่ายไม่เป็นเวลา ให้ลองปรับเปลี่ยน หลีกเลี่ยงวิตามินใดที่ไม่จำเป็นก่อน

3. ดื่มน้ำให้เยอะ ทานไฟเบอร์ให้มาก

ดื่มน้ำให้พอประมาณอย่างน้อย 1.5-2 ลิตร ต่อวันและทานผัก ผลไม้ ที่มีไฟเบอร์ ประมาณวันละ 20-30 กรัม สำหรับคนท้องผูก เพราะคนปกติทั่วไปกินประมาณ 12-15 กรัม ก็เพียงพอแล้ว ยกตัวอย่างเช่น แอปเปิล 1 ลูก มีไฟเบอร์ประมาณ 5 กรัม อย่างน้อยก็ควรกินไฟเบอร์ให้เท่ากับแอปเปิล 4 ลูก เป็นต้น หรือทานผัก เช่น คะน้า กะหล่ำ ผักที่มีกากใยสูง ไม่ใช่ผัก ผลไม้ ที่มีแต่น้ำตาล เพราะจะมีไฟเบอร์เพียงนิดเดียวเท่านั้น หลังจากกินไฟเบอร์ให้เยอะ ดื่มน้ำให้มากๆ และพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง จะทำให้อาการท้องผูกดีขึ้น

4. ไม่ควรซื้อยาระบายทานเอง

ข้อนี้สำคัญมาก หากมีอาการท้องผูก แพทย์ไม่แนะนำให้ซื้อยาระบายมาทานเอง เนื่องจากยาระบายจะไปกระตุ้นให้ลำไส้ทำงาน ส่งผลให้ลำไส้เราขี้เกียจ คนส่วนใหญ่ชอบทานยาระบายเพราะมันทำให้เราขับถ่ายได้ดี แต่ถ้าทานไปนานๆ ลำไส้จะเริ่มชินกับการมีตัวช่วยกระตุ้น ทำให้ลำไส้ขี้เกียจเกิดการบีบตัวช้าลง เราต้องทานยามากขึ้น ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ

5. นั่งขับถ่ายให้ถูกวิธี

วิธีการนั่งขับถ่ายของคนท้องผูกไม่ควรนั่งชักโครกในลักษณะ 90 องศา เพราะจะทำให้ถ่ายยาก แต่ควรนั่งขับถ่ายในลักษณะ 35 องศา จะขับถ่ายคล่อง เพราะมุมในการนั่งสบายกว่า

การตรวจวินิจฉัย หรือการรักษาในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีอะไรบ้าง

ถ้าเรามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการท้องผูกไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุก่อนว่ามีอย่างอื่นซ่อนอยู่หรือไม่ ขั้นตอนในการตรวจในการตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังจะเริ่มจากการซักประวัติร่างกาย คัดกรองโรคร้ายแรง มีโรคลำไส้บีบตัวช้า หูรูดทำงานไม่ดี กระบังลมหย่อน มีแผลในลำไส้ โรคมะเร็ง หรือเรื่องที่เกี่ยวกับพวกแคลเซียม ไทรอยด์ ซึ่งการตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้นแพทย์จะเจาะเลือดเพื่อดูก่อนว่ามีภาวะเหล่านี้หรือเปล่า ถ้าไม่มีในขั้นตอนต่อไปจะดูว่าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือเปล่า รวมไปถึงการคัดกรองเรื่องมะเร็งก่อน หากไม่มีภาวะเสี่ยงโรคมะเร็ง ก็จะทำการตรวจในด้านอื่นๆ ต่อ ดังนี้

1. การตรวจวัดการบีบตัวของลำไส้ ด้วยการนำนวัตกรรม Sitzmarks Capsule มาใช้เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ใหญ่ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกรุนแรง ซึ่งการทดสอบด้วย Sitzmarks ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยภาวะความเฉื่อยของการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ และการอุดกั้นหรือการไม่คลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายได้ ด้วยการกลืน Sitzmarks 1 Capsule ที่มีบรรจุ Radiopaque Marker รูปทรง O-Ring ขนาดเล็กจำนวน 24 ชิ้น ลงไป หลังจากนั้น 5 วัน ติดตามผลลัพธ์จากการกลืน Sitzmarks Capsule โดยจะสามารถมองเห็นได้จากการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ ถ้าหากผล X-Ray พบว่า 80% ของจำนวน O-Ring ทั้งหมดได้ถูกขับถ่ายออกไปจากร่างกาย หรือเหลือไม่เกิน 5 ชิ้นในลำไส้ แปลว่า ระบบการทำงานการเคลื่อนไหวของลำไส้ปกติ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาลำไส้ไม่ดีส่วนใหญ่มักจะไปกองอยู่ด้านล่าง ระบบการทำงานการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่มีความปกติ แต่ส่วนปลายลำไส้ใหญ่มีลักษณะช้าหรืออุดกั้น ก็จะต้องดำเนินการรักษาในลำดับต่อไป

2. อาการหูรูดลำไส้ทำงานผิดปกติ (Anismus) หรือปัญหาเรื่องกระบังลมผิดปกติ คือ ปกติหูรูดลำไส้ใหญ่มี 2 ชั้น เวลาเราปวดถ่ายหูรูดชั้นข้างในจะคลายตัว กระตุ้นให้อยากเข้าห้องน้ำ แต่จะไม่สามารถกลั้นได้ แต่หูรูดชั้นนอกสามารถกลั้นได้ ถ้าในคนที่กลั้นอุจจาระบ่อย หูรูดข้างในจะไม่คลายตัว เพราะเวลาคลายตัวแล้วถูกอั้นไว้ ร่างกายก็จะอั้นไปด้วย พอเราเบ่งด้านในไม่มีการคลายตัวก็จะทำให้ถ่ายไม่ออก ในบางคนชอบสวนทวารเพื่อดันให้ออกได้ง่ายขึ้น ในกรณีนี้เรียกว่าการที่หูรูดทำงานผิดวิธีไป ซึ่งจะเจอบ่อยมากโดยเฉพาะในผู้หญิง อาการดังกล่าวนี้เรียกว่าหูรูดทำงานไม่สัมพันธ์กับการขับถ่าย วิธีการรักษาคือต้องมาฝึกขับถ่ายใหม่ ในอีกกรณีคือ กระบังลมบริเวณหูรูดมีการหย่อนคล้อยลงมาซึ่งมักจะเจอในผู้หญิงที่เคยผ่าตัด หรือคลอดลูกมาก่อน ทำให้เส้นประสาท หรือกระบังลมหย่อนไปด้วย ส่งผลให้แรงขับถ่ายไม่ค่อยดี ปัจจุบันมีวิธี การตรวจได้ 2 วิธี คือ

  • การตรวจวัดการทำงานของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนักชนิดความละเอียดสูง (High-Resolution Anorectal Manometry) สามารถวัดได้ว่าหูรูดของเราทำงานเป็นอย่างไรบ้าง
  • การตรวจการเบ่งถ่ายด้วยเครื่อง MRI ( MRI Defecography ) เป็นการตรวจด้วยเครื่อง X-Ray MRI เพื่อดูพยาธิสภาพของลำไส้ส่วนปลายและกล้ามเนื้อ หรือความผิดปกติอุ้มเชิงกรานและหูรูดทวารหนัก โดยสามารถดูความสัมพันธ์ของการเบ่งถ่ายอุจจาระกับการทำงานของกล้ามเนื้ออุ้มเชิงกรานและหูรูดทวารหนักได้ด้วย ผู้ป่วยสามารถเห็นและเข้าใจการทำงานของลำไส้และกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานขณะเบ่งได้ โดยแพทย์คอยให้คำอธิบาย

ทั้งนี้ในระหว่างการตรวจรักษา จะมียารักษาอาการ แต่จะเลี่ยงยากลุ่มระบาย หรือยากระตุ้นลำไส้ เช่น ยาระบายที่มีส่วนผสมของมะขามแขก.

บทความโดย : นพ. จีรวัส ศิลาสุวรรณ แพทย์อายุรกรรมโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 2

Share

Recent Posts

New York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check Out

New York City is a haven for food lovers, and when it comes to ice… Read More

11 months ago

Explore Montenegro, The Hidden Gem of the Balkans

Montenegro, a hidden gem nestled in the Balkans, offers travelers a captivating experience with its… Read More

11 months ago

Spice Up Your Salad Game With These Tips To Make Salads More Exciting

Salads are a fantastic way to incorporate fresh and nutritious ingredients into our daily meals.… Read More

11 months ago

The Best Travel Destinations For Fitness Enthusiasts

  For fitness enthusiasts seeking to combine their love for travel and physical well-being, there… Read More

11 months ago

What To Do On Your First Visit To Edinburgh

Edinburgh, the capital city of Scotland, is a captivating destination that offers a perfect blend… Read More

12 months ago

Which Are The Consistently Most Popular Starbucks Drinks?

Starbucks has become a global phenomenon, captivating millions of coffee enthusiasts with its diverse menu… Read More

12 months ago