บีบก็ตาย จะคลายก็ยังไม่รอด! ส่องขีปนาวุธและอาวุธหนักหมีขาวที่ใช้ถล่มยูเครน




หลังจากรัสเซียใช้ยุทธวิธีเปิดสงครามเต็มรูปแบบเพื่อบุกจุดยุทธศาสตร์ของยูเครน มีการนำอาวุธร้ายแรงเพื่อโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน ด้วยขีปนาวุธพิสัยใกล้จากพื้นสู่พื้น ปืนใหญ่อัตตาจรติดรถถัง และกองกำลังรบพิเศษที่เข้าจู่โจมอย่างรวดเร็ว หลังจากการเปิดฉากยิงถล่มด้วยขีปนาวุธระยะสั้น ตามด้วยการส่งกองพลรถถังเข้ายึดครองเมืองสำคัญของยูเครน การถล่มด้วยสารพัดอาวุธหนัก เพื่อเร่งกดดันและปิดเกมสงครามอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้กำลังทหารราบจำนวนมากในการเข้ายึดครองเมืองใหญ่ของยูเครน เพื่อไม่ทำให้เกิดความสูญเสียต่อกองกำลังทหารราบมากจนเกินไป

สื่อจากฝั่งตะวันตกรายงานว่า กองกำลังของรัสเซียได้ระดมยิงขีปนาวุธพื้นสู่พื้นเข้าใส่เมืองคาร์คีฟ รวมถึงรถถังและยานหุ้มเกราะจำนวนมากที่บุกตะลุยข้ามพรมแดนจากเบลารุสเข้าสู่ยูเครน สร้างความสูญเสียให้กับทหารยูเครนและอาคารสถานที่ราชการจำนวนมากที่ถูกโจมตีด้วยจรวดจนพังถล่มเสียหายอย่างหนัก รัสเซียสูญเสียเครื่องบินขับไล่อย่างน้อย 5 ลำ รวมถึงอากาศยานรบแบบปีกหมุน หรือเฮลิคอปเตอร์รบอีกหลายลำ จากระบบต่อต้านอากาศยานของยูเครน หลังจากสงครามเปิดฉากได้สามวัน ระบบต่อต้านอากาศยานและสถานีเรดาร์ของยูเครนก็ถูกถล่มด้วยเครื่องบินรบของกองทัพอากาศหมีขาวจนพังราบ

การจู่โจมอย่างสายฟ้าแลบเป็นยุทธศาสตร์ของรัสเซียที่คล้ายกับการบุกเข้ายึดครองโปแลนด์ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นการบุกจู่โจมอย่างรวดเร็วด้วยกองกำลังทหารราบ รถถัง รถสายพานลำเลียงพล และกองพันปืนใหญ่ ที่ยิงกระหน่ำใส่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ก่อนที่ทหารราบและกองพลรถถังจะบดขยี้เป้าหมายซ้ำแบบไม่ให้ทันได้ตั้งตัว ผ่านมาสี่วัน ยูเครนถูกถล่มด้วยจรวดติดหัวรบขนาดหนัก ขีปนาวุธพื้นสู่พื้นระยะใกล้ รวมถึงการโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงของเครื่องบินรบฝั่งหมีขาว ฉากของสงครามยุคใหม่ลามจากตะวันออกไปจนถึงฝั่งตะวันตกของยูเครน ทำให้จุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เช่น ศูนย์บัญชาการรบ ฐานทัพอากาศ สถานีเรดาร์ คลังน้ำมัน และท่อแก๊ส ถูกถล่มจนเสียหายอย่างย่อยยับ และต่อไปนี้คืออาวุธหนักที่รัสเซียใช้ในสงครามบุกยูเครน

จรวดหลายลำกล้อง BM-21 Grad
เข้าประจำการในกองทัพสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี ค.ศ.1963 และมีการพัฒนาเรื่อยมาเพื่อเป็นการทดแทนจรวดหลายลำกล้อง BM-14 ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ช่วงยุค 50 จรวดหลายลำกล้อง BM-21 ถูกใช้งานในสนามรบจริงครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1969 ระหว่างการปะทะบริเวณชายแดนระหว่างรัสเซียกับจีน หลังจากนั้นจรวดหลายลำกล้องรุ่นนี้ก็ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน มีประจำการในกองทัพประเทศต่างๆ มากกว่า 30 ประเทศ

จรวดหลายลำกล้อง BM-21 ใช้จรวดขนาด 122 มิลลิเมตร จำนวน 40 ท่อยิง ติดตั้งบนแคร่รถบรรทุก Ural จรวดรุ่นเก่ามีระยะยิง 20 กิโลเมตร ต่อมามีการพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ ทำให้ BM-21 มีระยะยิงไกลสุดมากถึง 40 กิโลเมตร ใช้เวลาเตรียมการยิงแค่ 3 นาที สามารถทำการยิงจรวดทั้ง 40 ลูก ภายในเวลาเพียงแค่ 20 วินาที หลังทำการยิง สามารถเคลื่อนย้ายที่ตั้งได้ภายในเวลา 2 นาที กลับไปบรรจุจรวดใหม่ในแนวหลัง เพื่อป้องกันการยิงตอบโต้ของฝ่ายตรงข้าม การบรรจุจรวดใช้ระบบแมนนวล ใช้เวลาประมาณ 7-10 นาที จึงจะบรรจุจรวดได้ครบทุกท่อยิง BM-21 มีประสิทธิภาพในการทำลายล้าง ด้วยอัตราการยิงที่รวดเร็วและครอบคลุมเป้าหมาย พื้นที่เป็นบริเวณกว้าง จรวดหลายลำกล้อง BM-21 หนึ่งกองพันจะมี 18 ระบบ สามารถทำการยิงจรวดกว่า 720 ลูก ปูพรมถล่มพื้นที่เป้าหมายได้ในระลอกเดียว ภายในเวลาเพียง 20 วินาที อย่างไรก็ตาม การที่จรวดหลายลำกล้องรุ่นนี้ถูกออกแบบมาใช้ยิงปูพรมพื้นที่บริเวณกว้าง ก็ส่งผลให้ขาดความแม่นยำในการทำลายเป้าหมายเป็นจุดๆ ถ้าต้องการความแม่นยำในการทำลายเป้าหมายเฉพาะเป็นจุดๆ ไป ปืนใหญ่อัตตาจรระยะไกลเล็งยิงด้วยระบบดิจิตอลจะมีความเหมาะสมกับภารกิจดังกล่าวมากกว่า (ข้อมูลจาก https://militaryanddiplomacy.com/2021/07/08/soviet-bm-21-grad-mlrs/)

จรวดหลายลำกล้อง Tornado-G
พัฒนามาจากจรวดหลายลำกล้อง BM-21 Grad ของอดีตสหภาพโซเวียต โครงการพัฒนาจรวดหลายลำกล้องรุ่นนี้เริ่มขึ้นช่วงยุค 90 เปิดตัวต้นแบบครั้งแรกในปี ค.ศ.1998 แต่เนื่องจากขาดงบประมาณ ส่งผลให้กองทัพรัสเซียเพิ่งจะจัดหาจรวดหลายลำกล้อง Tornado-G ชุดแรกจำนวน 36 ระบบ ในปี ค.ศ.2011 และได้รับมอบเข้าประจำการในปี ค.ศ.2012 ปัจจุบัน กองทัพรัสเซียทยอยประจำการจรวดหลายลำกล้องรุ่นนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทดแทนจรวดหลายลำกล้อง BM-21 ที่มีใช้งานอยู่ทั้งหมด

Tornado-G ใช้จรวดขนาด 122 มิลลิเมตร 40 ท่อยิง ติดตั้งบนรถบรรทุก 6×6 Ural-4320 น้ำหนัก 14 ตัน ขนาดยาว 7.35 เมตร กว้าง 2.5 เมตร สูง 3.1 เมตร ระบบควบคุมการยิงได้รับการพัฒนาให้เป็นระบบยิงอัตโนมัติ เมื่อเทียบกับจรวดหลายลำกล้อง BM-21 รุ่นเก่า ลดพลประจำรถลงจาก 3 เหลือ 2 นาย จรวด Tornado-G สามารถทำการยิงจรวดทั้ง 40 ลูก ภายในเวลา 20 วินาที จรวดมีพิสัยยิงไกล 40 กิโลเมตร แต่มีข้อมูลที่ไม่ได้รับการยืนยันระบุว่ารัสเซียได้พัฒนาจรวดรุ่นใหม่ซึ่งมีระยะยิงไกลถึง 90-100 กิโลเมตรออกมาแล้ว จรวดลูกหนึ่งมีน้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม น้ำหนักหัวรบดินระเบิดแรงสูงหนัก 25 กิโลกรัม การบรรจุจรวดใช้ระบบแมนนวลเหมือน BM-21 โดยจะใช้เวลาประมาณ 7 นาที ในการบรรจุจรวดครบทุกท่อยิง 

ขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ S-300PM2
S-300PM2 พัฒนาขึ้นช่วงปลายยุค 90 เป็นขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลรุ่นก่อนหน้าของ S-400 มีระยะยิงไกลสุด 250 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพสูงกว่า S-300PS จากยุคอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งมีระยะยิงเพียง 75 กิโลเมตร เข้าประจำการตั้งแต่ช่วงต้นยุค 80 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา (2021) รัสเซียทดแทน S-300PS บริเวณชายแดนติดกับยูเครนด้วย S-300PM2 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า เนื่องจากห้วงเวลาที่ผ่านมายูเครนได้พัฒนาจรวดและขีปนาวุธรุ่นใหม่หลายรุ่น เช่น ขีปนาวุธพิสัยใกล้ Grom, จรวดร่อนต่อต้านเรือรบ Neptune เป็นต้น นอกจากนี้ยูเครนยังได้จัดหาโดรน Bayraktar TB2 จากตุรกีเข้ามาประจำการ อาเซอร์ไบจานเคยใช้โดรนรุ่นนี้จัดการฐานยิง S-300PS ของอาร์เมเนีย ระหว่างการสู้รบในพื้นที่พิพาทนาร์กอโน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) มาแล้ว การติดตั้ง S-300PM2 แทนที่ S-300PS นอกจากจะช่วยให้รัสเซียรับมือยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ของยูเครนเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระยะยิงที่ไกลขึ้น ช่วยให้รัสเซียสามารถป้องกันภัยทางอากาศให้กองกำลังภาคพื้นดิน ในขณะที่กองกำลังรัสเซียข้ามชายแดนเข้าแทรกแซงในดอนบัส 
ข้อมูลจาก https://militaryanddiplomacy.com/2021/12/14/russia-to-upgrade-air-defense-systems-along-border-with-ukraine/

เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-35M
Mi-35 ของรัสเซีย มีพื้นฐานมาจากเฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-24 Hind ของอดีตสหภาพโซเวียต ใช้งานมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น มีฉายาว่ารถถังบิน (Flying Tank) รัสเซียตั้งใจจะพัฒนา Mi-35 สำหรับส่งออกเป็นหลัก แต่ในรุ่นหลังๆ เช่น Mi-35M หรือ Hind-E มีการติดตั้งระบบเอวิโอนิกส์และเซนเซอร์ที่ทันสมัย ปฏิบัติการรบทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งกลางวันและกลางคืน ส่งผลให้กองทัพรัสเซียจัดหา Mi-35M เข้าประจำการมากกว่า 60 ลำ และมีลูกค้าต่างประเทศจัดหาไปใช้งานจำนวนมาก เป็นหนึ่งในเฮลิคอปเตอร์ที่ขายดีที่สุดของรัสเซีย

เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-35M เข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.2005 มีขนาดยาว 17 เมตร สูง 6.5 เมตร ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบชาฟท์ GTD TV3-117VMA จำนวน 2 เครื่องยนต์ ความเร็วสูงสุด 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 435 กิโลเมตร เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-35M สามารถค้นหาเป้าหมายประเภทรถถังของฝ่ายตรงข้ามได้ที่ระยะไกลสุดถึง 10 กิโลเมตร มีระบบอาวุธประกอบด้วยปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 23 มิลลิเมตร 2 ลำกล้อง บรรทุกกระสุน 450 นัด และมีตำบลติดอาวุธ 6 จุดสำหรับติดฝักจรวดไม่นำวิถี S-8 ขนาด 80 มิลลิเมตร, จรวดต่อสู้รถถัง Shturm-V, จรวดต่อสู้รถถัง Ataka-V หรือจรวดต่อสู้อากาศยาน Igla-V

ข้อมูลจาก https://militaryanddiplomacy.com/2022/02/21/russia-mi-35m-attack-helicopter

ขีปนาวุธเคลื่อนที่พื้น-สู่-พื้น 9K720 Iskander-M
ขีปนาวุธทางยุทธวิธีที่ติดหัวรบดินระเบิดแรงสูงขนาดหนัก ใช้โจมตีด้วยการยิงจากระยะไกลเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทำลายด้วยอากาศยานของข้าศึก 9K720 Iskander-M ติดตั้งบนรถบรรทุกล้อยางเคลื่อนที่ สามารถติดตั้งขีปนาวุธได้ 2 ลูก มีพิสัยยิง 400-500 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุดขณะเคลื่อนเข้าหาเป้าหมายอยู่ที่ 5.9 มัค เลือกหัวรบได้หลากหลาย ทั้งระเบิดแรงสูงตั้งแต่ 400-700 กิโลกรัม หัวรบติดสะเก็ดระเบิดแบบดาวกระจายเพื่อทำลายเป้าหมายจำนวนมาก ระเบิดเชื้อเพลิงอากาศ ระเบิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมไปถึงการติดหัวรบนิวเคลียร์ 9K720 Iskander-M เป็นขีปนาวุธที่มีขีดความสามารถในการทำลายล้างสูง ออกแบบมาสำหรับสงครามยุคใหม่ที่เน้นการทำลายเป้าหมายทางทหารขนาดใหญ่

รถถัง T-90A
T-90 เข้าประจำการในกองทัพรัสเซียเมื่อปี 2004 หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการรุกรบของยานยนต์หุ้มเกราะติดอาวุธหนักที่กลายเป็นแกนหลักในการบุกจู่โจม ป้อมปืนทรงเหลี่ยมแบบเชื่อม แตกต่างจาก T-90 รุ่นแรก น้ำหนัก 46.5 ตัน อาวุธของ T-90A คือปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตร สามารถยิงจรวดต่อสู้รถถังที่มีระยะยิงไกล 5 กิโลเมตร มีระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ อัตราการยิงสูงสุด 7 นัดต่อนาที ส่วนอาวุธรองได้แก่ ปืนกลร่วมแกน PKMT ขนาด 7.62 มิลลิเมตร และปืนกลหนักต่อสู้อากาศยานขนาด 12.7 มิลลิเมตร Kord ควบคุมด้วยรีโมต เกราะทำจากวัสดุคอมโพสิต เสริมด้วยเกราะ ERA รุ่น Kontakt-5 ซึ่งสามารถป้องกันจรวดต่อสู้รถถัง TOW ที่ผลิตในสหรัฐฯได้ และระบบป้องกันแบบแอคทีฟ Shtora-1 เครื่องยนต์ดีเซล V-92S2 กำลัง 1,000 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการไกล 500 กิโลเมตร สามารถติดถังน้ำมันสำรองภายนอกบริเวณท้ายรถเพื่อเพิ่มระยะปฏิบัติการให้ไกลขึ้น สำหรับ T-90A จำนวนกว่า 400 คัน มีการทยอยอัปเกรดให้กลายเป็น T-90M ที่มีขีดความสามารถในการรบเพิ่มมากขึ้น.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

Share

Recent Posts

New York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check Out

New York City is a haven for food lovers, and when it comes to ice… Read More

11 months ago

Explore Montenegro, The Hidden Gem of the Balkans

Montenegro, a hidden gem nestled in the Balkans, offers travelers a captivating experience with its… Read More

11 months ago

Spice Up Your Salad Game With These Tips To Make Salads More Exciting

Salads are a fantastic way to incorporate fresh and nutritious ingredients into our daily meals.… Read More

11 months ago

The Best Travel Destinations For Fitness Enthusiasts

  For fitness enthusiasts seeking to combine their love for travel and physical well-being, there… Read More

12 months ago

What To Do On Your First Visit To Edinburgh

Edinburgh, the capital city of Scotland, is a captivating destination that offers a perfect blend… Read More

12 months ago

Which Are The Consistently Most Popular Starbucks Drinks?

Starbucks has become a global phenomenon, captivating millions of coffee enthusiasts with its diverse menu… Read More

12 months ago