นั่งนานเบ่งถ่าย อาจต้องหนักใจกับริดสีดวงทวารหนัก




…นั่งเล่นโทรศัพท์เพลินเวลาเข้าห้องน้ำ จนลืมเวลาหรือไม่?
…อุจจาระแข็ง ถ่ายยาก เบ่งถ่ายเป็นประจำหรือเปล่า?
หากมีพฤติกรรมเหล่านี้…เพิ่มความเสี่ยงเป็น “โรคริดสีดวงทวารหนัก” ได้นะ

ทำความรู้จักกับ…โรคริดสีดวงทวารหนัก

ริดสีดวงทวารหนัก เป็นโรคที่พบบ่อย เกิดจากเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนัก หรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ มีอาการบวมพอง หรือยืดตัว โดยมีทั้งลักษณะยื่นนูนเป็นติ่งออกมาจากทวารหนัก และที่อยู่ภายใน ซึ่งโรคริดสีดวงทวารหนักนั้นจะแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

1.ริดสีดวงทวารภายใน

เกิดจากเนื้อเยื่อทวารหนักเกิดการโป่งพอง ต้องใช้การส่องกล้องจึงจะสามารถมองเห็นได้ ซึ่งทั้ง 4 ระยะของโรคจะมีอาการดังนี้

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ริดสีดวงยังมีขนาดเล็ก อยู่ในรูทวาร ไม่ยื่นออกมา อาจมีเลือดสดๆ ขณะถ่าย หรือหลังถ่ายอุจจาระ
  • ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงโตขึ้นเป็นติ่ง และจะโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่าย แต่สามารถหดกลับเข้าไปเองได้ อาจมีเลือดสีแดงสดไหลออกมาบ่อยขึ้น
  • ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่และโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ แต่ในระยะนี้ติ่งไม่สามารถหดกลับเข้าไปเองได้ ต้องใช้มือดันเข้าไป จะมีเลือดออก และมีอาการระคายเคืองมากขึ้น
  • ระยะที่ 4 ในระยะนี้หัวริดสีดวงจะโตมาก โดยโผล่ออกมาด้านนอก และไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจรู้สึกปวด และรบกวนชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก

2.ริดสีดวงทวารภายนอก

จะเกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นรอบทวารหนัก เกิดจากการที่กลุ่มหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังปากทวารหนักโป่งพอง ริดสีดวงประเภทนี้สามารถมองเห็นและคลำเจอได้ เวลาอักเสบจะมีอาการเจ็บปวด โดยในผู้ป่วยบางรายอาจมีทั้งริดสีดวงภายในและภายนอกอักเสบในเวลาเดียวกัน

สำรวจพฤติกรรมเสี่ยงเป็น “โรคริดสีดวงทวารหนัก”

นอกจากพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องในการนั่งห้องน้ำนานๆ ที่เป็นความเสี่ยงของโรคริดสีดวงทวารหนักแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิด “ริดสีดวงทวารหนัก” ได้ เช่น

  • รับประทานผักและผลไม้น้อย ดื่มน้ำน้อย ทำให้อุจจาระเป็นก้อนแข็งจนถ่ายลำบาก ส่งผลให้บางคนต้องเบ่งถ่ายเป็นประจำ
  • เพราะความรีบเร่งจึงพยายามเบ่งถ่ายแรงๆ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
  • การตั้งครรภ์ เนื่องจากมดลูกที่โตขึ้น จะทำให้เลือดบริเวณอุ้งเชิงกรานไหลเวียนไม่สะดวก ริดสีดวงจึงขยายตัวมากขึ้น (แนะนำให้มาพบแพทย์รักษาริดสีดวงทวารก่อนการตั้งครรภ์)
  • อายุที่มากขึ้นทำให้มีการหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนักมากขึ้น ผู้ที่อายุมาก ริดสีดวงทวารหนักจะอักเสบง่ายขึ้น

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อห่าง “ริดสีดวงทวารหนัก”

เพียงแค่ปรับนิดเปลี่ยนหน่อย…ในการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ลดเสี่ยงได้

  • พยายามขับถ่ายให้เป็นเวลา และไม่นั่งขับถ่ายเป็นเวลานาน
  • รับประทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น เพราะการเพิ่มกากใยในอาหารจะช่วยให้การขับถ่ายง่ายขึ้น รวมทั้งควรดื่มน้ำให้มากอย่างสม่ำเสมอ อุจจาระจะไม่แห้งแข็ง ช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้ระบบลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ขับถ่ายได้คล่องขึ้น

ริดสีดวงทวารหนัก รักษาได้…ไม่ต้องหนักใจ

การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักนั้น ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค แบ่งเป็น 2 ประเภทการรักษา ได้แก่

1.การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

ใช้รักษาริดสีดวงทวารหนักในระยะที่ 1 และ 2 คือริดสีดวงมีขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งสามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนี้

  • การเหน็บยา โดยแพทย์จะเป็นผู้สั่งยาให้ (การเหน็บยาไม่ช่วยในการรักษาริดสีดวงภายนอก)
  • การฉีดยา ฉีดใต้ชั้นผิวหนังที่มีขั้วริดสีดวง เพื่อให้หัวริดสีดวงยุบลง โดยจะฉีดทุก 2-4 สัปดาห์ เพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
  • การใช้ยางรัด (Rubber band ligation) รัดบริเวณหัวริดสีดวงที่โผล่ออกมา เพื่อให้หัวริดสีดวงฝ่อและหลุดออก เพื่อความปลอดภัยจำเป็นต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น เพราะอาจเกิดการติดเชื้อและผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาได้ ผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดไม่ควรใช้วิธีนี้ เพราะจะทำให้มีเลือดออกมาก หรือเลือดไหลไม่หยุด

2.การรักษาโดยการผ่าตัด

เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับริดสีดวงภายนอกที่มีการอักเสบ และริดสีดวงภายใน ระยะที่ 3 และ 4

  • การผ่าตัดแบบมาตรฐานปกติ

เป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อริดสีดวงที่โตและก่อปัญหาออก และรวบตัดไปถึงขั้วเส้นเลือดที่เข้ามาเลี้ยงหัวริดสีดวงนั้นๆ โดยไม่ทำอันตรายกับหูรูดทวารหนัก ซึ่งผู้ป่วยสามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระได้เป็นปกติหลังการผ่าตัด เป็นการรักษาที่ได้ผลดีในระยะยาวกว่าวิธีอื่นๆ ที่สำคัญมีโอกาสเป็นซ้ำใหม่น้อยที่สุด

  • การผ่าตัดริดสีดวงโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (PPH stapler)

เหมาะกับริดสีดวงทวารหนักภายในเท่านั้น และต้องไม่ใหญ่เกินไป แพทย์จะต้องใช้เครื่องมืออย่างระมัดระวัง หากตัดพลาด ผู้ป่วยจะเจ็บทรมานมาก และในระยะยาวอาจจะมีปัญหารูทวารตีบตันได้ เพราะมีตะเข็บโลหะเป็นวงแหวนฝังตัวอยู่ถาวร

  • การผ่าตัดริดสีดวงด้วยเลเซอร์

เป็นการรักษาที่เหมาะกับริดสีดวงในระยะที่ยังไม่รุนแรงและหัวไม่ใหญ่นัก โดยจะใช้แสงเลเซอร์เข้าไปทำลายเส้นเลือดบริเวณหัวริดสีดวงให้ค่อยๆ ฝ่อลง ได้ผลดีพอสมควร แต่ในระยะยาวมีโอกาสมากที่จะกลับมาเป็นซ้ำ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก

  • การผ่าตัดแบบ Doppler guided hemorrhoid artery ligation with recto-anal repair

รักษาได้เฉพาะริดสีดวงภายในขนาดเล็ก เป็นการใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ตรวจหาขั้วเส้นเลือดแดงที่เข้ามาเลี้ยงหัวริดสีดวงทวารหนักแต่ละจุด แล้วเย็บรวบผูกขั้วเส้นเลือดนั้นๆ เพื่อให้ริดสีดวงฝ่อ โดยไม่ได้ตัดเอาหัวริดสีดวงที่อักเสบออกไป จึงเหมาะกับริดสีดวงทวารหนักขนาดเล็กเท่านั้น

อย่าคิดว่า “โรคริดสีดวง” เป็นแล้วเดี๋ยวก็หาย
อย่าคิดว่า “โรคริดสีดวง” เป็นแล้วน่าอาย ไม่กล้าไปพบแพทย์

เพราะหากคุณมีอาการผิดปกติที่น่าสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

เป็น “ริดสีดวงทวารหนัก” อย่ามัวอาย อย่ามัวรีรอ
“แพทย์เฉพาะทาง” จะคลายความหนักใจให้คุณได้…

บทความโดย : พล.ต.ต.นพ.วารินทร์ วชิรปัญญานุกูล ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์