ตรวจสุขภาพทุกปี ต้องส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทุกปีหรือไม่




  • ปัจจุบัน มีคนที่คิดว่าตนเองมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสุขภาพประจำปี มากถึง 59% และมีเพียง 2% เท่านั้นที่เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
  • ติ่งเนื้อขนาดเล็ก (polyp) ชนิด adenoma บริเวณลำไส้ใหญ่ เป็นระยะก่อนมะเร็ง (pre-cancerous lesion) ซึ่งมีโอกาสดำเนินโรคเป็นมะเร็งสำไส้ใหญ่ในเวลา 3-5 ปี มากถึง 90%
  • จากการศึกษาพบว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยง สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

ด้วยปัจจุบันมีข่าวสารสุขภาพแพร่หลายและเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งผู้คนยังให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายมากขึ้น จากข้อมูลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่า มีคนที่คิดว่าตนเองมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสุขภาพประจำปี มากถึง 59% และมีเพียง 2% เท่านั้นที่เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี

กุญแจสำคัญของการมีสุขภาพดี คือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ อยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์และทำจิตใจให้แจ่มใส แต่ด้วยการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ทันสมัยอาจทำให้มีการขยับร่างกายน้อยลง ไม่มีเวลาเลือกอาหารที่ดี ใช้เวลาหมดไปกับโซเชียลมีเดีย นอนดึก และมีความเครียดสะสม ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมากมาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น

การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นอีกกุญแจสำคัญของการมีสุขภาพดี ซึ่งปกติเราทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง เป็นการเข้ารับการตรวจร่างกายโดยยังไม่มีความผิดปกติใดๆ หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อยโดยยังไม่ปรากฏอาการผิดปกติ นอกจากนี้ยังเป็นการค้นหาโรคหรือแนวโน้มการเกิดโรค รวมถึงโรคร้ายแรงในระยะเริ่มต้น

การตรวจสุขภาพประจำปีช่วยให้ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเกิดโรคหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค ช่วยลดความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

อายุ 45 ปีขึ้นไป ควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่

การตรวจสุขภาพประจำปีของแต่ละช่วงวัยมีโปรแกรมแตกต่างกัน เช่น ในอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ผู้ชายควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และทั้งผู้หญิงและผู้ชายควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

นอกจากนี้การส่องกล้องลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ ยังช่วยประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หากพบความผิดปกติ แพทย์สามารถให้การรักษาได้ทันก่อนโรคลุกลาม

ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ต้องทำเป็นประจำทุกปีหรือไม่

ข้อมูลสำคัญทางการแพทย์พบว่า หากส่องกล้องแล้วตรวจพบว่าเป็นติ่งเนื้อขนาดเล็ก (polyp) ชนิด adenoma บริเวณลำไส้ใหญ่ ถือว่าเป็นระยะก่อนมะเร็ง (pre-cancerous lesion) ซึ่งมีโอกาสดำเนินโรคเป็นมะเร็งสำไส้ใหญ่ในเวลา 3-5 ปี มากถึง 90%

ดังนั้น หากตรวจพบติ่งเนื้อขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 3-5 ปี หากพบว่าติ่งใหญ่กว่า 1 เซนติเมตรอาจตรวจทุก 1-3 ปี สำหรับผู้ที่ไม่พบติ่งเนื้อควรกลับมาตรวจอีกครั้งใน 5-10 ปี

อย่างไรก็ตาม ผู้มีความเสี่ยงเนื่องจากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้นำอายุเมื่อเริ่มเป็นมะเร็งของคนในครอบครัวหรือเครือญาติใกล้ชิด ลบด้วย 10 จะเป็นอายุที่ควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เช่น หากพ่อเป็นมะเร็งตอนอายุ 40 ปี ลบออกด้วย 10 จะเหลือ 30 ดังนั้น ลูกควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่อมีอายุ 30 ปี โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคนิค NBI และเทคโนโลยี AI จากญี่ปุ่น

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเทคนิคที่ทันสมัยผ่านทางกล้อง NBI (Narrow Band Image), EMR (Endoscopic Mucosal Resection) และ ESD (Endoscopic Submucosal Dissection) เป็นรูปแบบการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimal Invasive Surgery- MIS) ช่วยให้แพทย์สามารถตัดก้อนเนื้อขนาดใหญ่ออกจากลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดแผลหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย สามารถลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น ที่สำคัญไม่มีแผลเป็นที่ทำให้ต้องกังวลใจอีกด้วย

ทั้งนี้ จากสถิติค่าเฉลี่ยทั่วไปของการตรวจพบติ่งเนื้อก่อนพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่โรงพยาบาลสมิติเวช สามารถตรวจพบติ่งเนื้อได้มากถึง 60% ซึ่งความสามารถตรวจพบติ่งเนื้อได้เร็วขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาดมากขึ้น

โรงพยาบาลสมิติเวชได้ร่วมมือกับ SANO Hospital ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยสมิติเวชเป็นโรงพยาบาลที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ ร่วมกับ เทคนิค NBI จากแพทย์ญี่ปุ่น ที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยเร็วขึ้นถึง 2 เท่า

การเตรียมตัวส่องกล้องลำไส้ใหญ่

การเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือการส่องกล้อง จำเป็นต้องพบแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ข้อมูลประวัติส่วนตัว เช่น โรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา รวมถึงยาที่รับประทานเป็นประจำ อีกทั้งแพทย์จะให้ข้อมูลการเตรียมตัวส่องกล้อง รวมถึงตอบคำถามและข้อสงสัยต่างๆ เมื่อผู้เข้าตรวจตกลงจะเข้ารับการส่องกล้องแล้ว พยาบาลจะทำนัดเพื่อส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่อีกครั้ง โดยมีการเตรียมตัว ดังนี้

  • งดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการส่องกล้องอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์ทำการซักประวัติส่วนตัว เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา รวมถึงยาที่รับประทานเป็นประจำ
  • รับประทานยาระบาย เพื่อขับถ่ายให้ลำไส้สะอาด โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  • แพทย์ให้ยานอนหลับ กรณีเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว อาจใช้วิธีการดมยานอนหลับ ชนิดไม่รุนแรงและหมดฤทธิ์ได้เร็ว
  • แพทย์ใช้เวลาส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ประมาณ 20-30 นาที
  • กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติอาจใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งกระบวนการใช้เวลาประมาณครึ่งวัน

การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงความเครียด เป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

นอกจากนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีก็เป็นตัวช่วยให้ตรวจพบแนวโน้มความเสี่ยงการเกิดโรคในระยะเริ่มต้น ซึ่งทำให้การป้องกันและรักษาง่ายขึ้น ก่อนโรคลุกลามจนหมดทางรักษา

ทั้งนี้ นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีพื้นฐานทั่วไปแล้ว เมื่ออายุมากขึ้นควรเพิ่มการตรวจคัดกรองที่เหมาะสมตามวัย โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 45 ปี ซึ่งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน ทำให้การตรวจทำได้ง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เราจึงควรเข้ารับการตรวจแต่เนิ่นๆ เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยิ่งตรวจพบเร็วยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น

บทความโดย : พญ. วินิตา โอฬารลาภ แพทย์ชำนาญการด้านโรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาล สมิติเวช สุขุมวิท