ซุ้มกอ พิมพ์ผ้าพาดขวา




ในทั้งหมดของพระชุดเบญจภาคี พระสมเด็จ พระนางพญา พระรอด พระผงสุพรรณ และพระซุ้มกอ…น่าจะมีพระซุ้มกอ กรุทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชร กรุเดียว ที่วงการ ยังไม่กล้าจำแนกแยกพิมพ์ ชัดเจน

จะว่ากันไป ก็แยกกันไว้บ้าง ซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ มีกนก ไม่มีกนก ซุ้มกอพิมพ์กลาง ซุ้มกอพิมเล็ก ฯลฯ

ว่ากันเฉพาะพิมพ์ใหญ่ ที่มีค่านิยมสูงสุด เป็นที่มาของคำว่า “มึงมีกูไว้ไม่จน” วงการแค่เรียกพิมพ์ใหญ่ ทั้งๆที่เห็นๆกันว่าพิมพ์ใหญ่มีหลายแม่พิมพ์

ที่จริง คุณเชียร ธีรศานต์ ผู้รู้ผู้บุกเบิกวงการพระเครื่องเมืองเหนือ เจ้าของซุ้มกอพิมพ์องค์เจ้าเงาะ เคยจำแนกแยกพิมพ์เอาไว้ เช่น พิมพ์ใหญ่กำไลปล้องเดียว กำไลสามปล้อง พิมพ์พิกุลเอก พิมพ์ผ้าพาดขวา

แต่อาจเป็นเพราะจำนวนพระน้อยมากวงการรับรู้กันแค่ว่าพิมพ์ใหญ่ และขอเพียงเป็นพระซุ้มกอแท้เท่านั้น

พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ องค์ในคอลัมน์ คนเป็นพระด้วยกันพอมองออก ดูจากผิวฝ้าคราบไคล และเส้นสายลายพิมพ์ รูปหน้าที่ออกหน้านาง เป็นซุ้มกอกรุวัดพิกุล พิมพ์ผ้าพาดขวา

สังเกตจากลำข้อมือด้านขวา ใกล้จุดประสานหน้าตัก มีเส้นเล็กลาดไปพาดเข่า

นอกจากทุกเส้นสายลายพิมพ์ผึ่งผาย ติดพิมพ์ลึกพองาม พอเห็นตาจมูกชัด ส่วนเนื้อที่นูนที่ถูกจับต้อง หลายตำแหน่งติดฝ้ารักสีน้ำตาล ขณะที่พื้นผนัง คราบฝ้าขาวขุ่น เป็นฉากหลังขับเน้นให้เห็นเสน่ห์เนื้อขององค์พระซึ้งตาขึ้น

ด้านหลังหลุมร่องลึกเนินตื้น…นี่คือสัญลักษณ์ มาตรฐาน เหมือนลายเซ็นรับประกัน พระซุ้มกอแท้

คุณเชียร ธีรศานต์ อธิบาย “ผิวแท้” พระซุ้มกอว่า เหมือนผิวมนุษย์ที่เปลี่ยนตามวัย

ผิวพระที่ฝังดินจะถูกน้ำค่อยๆทำลายให้อ่อนตัวเปื่อยยุ่ย น้ำและดินยังซึมซับเข้าไปทำลายความสวยสด เหมือนสาวที่ถูกความมีอายุทำลายเลือดสาว ด้วยเหตุนี้ ผิวที่เปื่อยจะกลายเป็นดินปะปนไปกับดินรอบๆพระ

แต่การหลุดของผิวก็หาได้สม่ำเสมอเหมือนผิวที่กดออกมาจากแม่พิมพ์ หรือผิวที่ถูกขัดด้วยกระดาษทราย เนื้อตรงไหนอ่อนก็หลุดมาก เนื้อตรงไหนแข็งก็หลุดน้อย หรือไม่หลุดเลย

ผิวพระซุ้มกอจึงกลายเป็นผิวที่ไม่สม่ำเสมอ เหมือนผิวส้ม ความงามของผิวหมดความสวยสด กลายมาเป็นความสวยที่มีสง่าราศี อยู่ในคำจำกัดความของนักนิยมพระว่า ผิวแห้งสนิท.

พลายชุมพล