ความหมายเมนูวันกินผัก 7 อย่าง หลังวันตรุษจีน




วันกินผัก 7 อย่าง หรือฉิกเอี่ยฉ่ายในภาษาแต้จิ๋ว ที่ตรงกับชิวฉิก ในภาษาจีน หรือวันที่ 7 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งปี 2565 นี้ ตรงกับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของทุกปีหลังจากผ่านวันไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ และรับประทานอาหารร่วมกันหลังไหว้กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัว

ฉิกเอี่ยฉ่าย แปลตามตัวคือ “ฉิก” หมายถึง 7 “เอี่ย” หมายถึงชนิด
“ฉ่าย” หมายถึงผัก รวมกันเป็นเมนูผัก 7 ชนิดที่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหารเพื่อรับประทานกันในวันชิวฉิก ซึ่งชาวจีนจะนิยมซื้อผักที่นอกจากมีความหมายมงคลแล้ว ในทางคุณสมบัติของพืชผักแล้ว ถือว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายเพราะล้วนมีกากใยสูง และช่วยระบบขับถ่ายได้ดี ให้สารอาหารบำรุงร่างกาย ส่วนรสชาติของผักแต่ละชนิดที่นำมาปรุงรวมกัน ก็จะเข้ากันอย่างดี เพราะมีทั้งที่ให้รสหวาน สดชื่น และรสขม

เรียกได้ว่า หลังจากรับประทานอาหารที่ส่วนใหญ่เป็นเมนูหมู เป็ด ไก่ และเนื้อสัตว์ต่างๆ รวมถึงแป้งมาหลายวันแล้ว ก็ได้เวลาที่ร่างกายจะได้รับประทานผักอย่างเต็มที่บ้างในวันกินผัก 7 อย่างที่มีคุณสมบัติหลักๆ ดังนี้

  • หัวไชเท้า ช่วยการย่อย ล้างกระเพาะ ลำไส้
  • ตั่วฉ่าย มีเส้นใย กากใยสูง มีวิตามิน และเบตาแคโรทีนสูง
    ส่วนรสชาตินั้นจะออกขมๆ แต่พอเคี้ยวแล้วจะมีรสกลมกล่อมหวานติดลิ้น หลายคนจึงนิยมทำเป็นผักดอง
  • ผักคะน้า มีวิตามินเอ ซี สารต้านอนุมูลอิสระ มีรสสัมผัสหวานกรอบ
  • ผักขึ้นฉ่าย มีคุณสมบัติลดคอเลสเตอรอล ลดความดัน บรรเทาอาการปวดตามข้ออีกด้วย
  • ชุงฉ่าย หรือชุนฉ่าย หรือผักขมจีน มีวิตามินเอสูง รสชาติขม นิยมต้มกับกระดูกหมูหรือหมูสามชั้น ซึ่งเป็นคนละชนิดกับผักโขมที่นิยมเอามาผัดมากกว่า
  • เก๋าฮะฉ่าย มีวิตามินซี วิตามินเคสูง
  • ต้นกระเทียม ช่วยขับพิษ สารพิษ                                                 

สำหรับความหมายของผักแต่ละชนิดนี้ บางคำอิงจากคำพ้องเสียง และตัวอักษรภาษาจีนที่ให้ความหมายมงคล อย่าง หัวไชเท้า หมายถึงความบริสุทธิ์ สะอาด หรือบางคนอาจหมายถึงโชคลาภ

ตั่วฉ่ายที่นำไปปรุงได้ทั้งเมนูจับฉ่าย และผักดอง

ตั่วฉ่าย ก็หมายถึงความยิ่งใหญ่ ผักคะน้า หมายถึงความเป็นเลิศ ผักขึ้นฉ่าย หมายถึงความขยัน

ผักขมจีน ที่ต้มกับกระดูกหมู หมูสามชั้น ใส่เห็ดหอม ก็อร่อย

ชุงฉ่าย หรือชุนฉ่าย หรือผักขมจีน หมายถึง ความรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จ ทรัพย์สินเหลือ และเพิ่มพูน เก๋าฮะฉ่าย เป็นที่ชื่นชอบเป็นที่รัก มนุษยสัมพันธ์ดี

ต้นกระเทียม สามารถนำไปปรุงเป็นเมนูไข่เจียว หรือข้าวผัดได้

ต้นกระเทียม หรือ ซึ่งเกี้ย ความเป็นเจ้าคนนายคน เพราะคำว่าซึ่ง หรือสึ่ง หมายถึงการนับ ที่มีความเชื่อในสมัยก่อนว่าหากนับเลขได้ ก็จะเป็นใหญ่เป็นโต หรือหากใครอยากใส่กะหล่ำปลี ก็มีความหมายดีในด้านความมีชื่อเสียง และลูกหลานรักใคร่สามัคคีกัน 

ส่วนการปรุงเมนูผัก 7 อย่างนี้ ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละบ้าน ที่บางคนชอบผัดก่อนแล้วนำไปต้ม พร้อมใส่หมูสามชั้นด้วย หรือบางคนก็ต้มในน้ำซุปกระดูกหมู เติมเกลือ และซีอิ๊ว เพื่อให้ได้น้ำใสๆ ซดแล้วสดชื่น ที่เรียกกันว่ากินน้ำซุป เชง เชง.